Categories
ข่าว

ยอมถอยแล้ว!! เหล่าทัพ ชะลอซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์-เรือดำนํ้า โอนงบประมาณช่วยโควิด-19

จากกรณีฝ่ายการเมืองและกระแสสังคมเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมตัดลดงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เหล่าทัพได้พิจารณาทบทวนโครงการปรับตัดโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในส่วนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมควรชะลอออกไปก่อน

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการพิจารณาตัดโอนงบ ประมาณ 2563 ในส่วนโครงการและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อนำมาเยียวยาประชาชนจากผลการกระทบโรคโควิด-19 ว่า กระทรวงกลาโหมมองสถานการณ์และคิดไว้ล่วงหน้า ทราบดีถึงเหตุผลความจำเป็นของสถานการณ์เหล่านี้ดี ประเทศชาติต้องไปต่อต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหาประเทศ แต่ต้องคงสภาพความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ ดูแลความปลอดภัย และผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ต้องดูความเร่งด่วนการจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพด้วย โครงการไหนสมควรชะลอก็ควรชะลอ โครงการไหนดำเนินการในปีต่อๆไป โดยไม่กระทบต่อสัญญากับต่างประเทศก็ต้องทำ ขณะนี้เหล่าทัพกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีโครงการใดบ้างในงบฯปี 63 และจะหารือกันต่อเนื่องไปถึงโครงการในงบฯปี 64 ในภาพรวมด้วย หลักการทบทวนโครงการคือดูการดำรงสภาพความพร้อมต่อไป

ทร.เช็กสัญญาเรือดำน้ำลำที่ 2–3
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถให้ชะลอไปก่อน และต้องไม่กระทบต่อสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ ขณะนี้งบฯปี 63 ได้เริ่มใช้จ่ายแล้วต้องมาดูว่าจะเริ่มตัดโอนวันไหน เพราะโครงการต่างๆเป็นงบฯผูกพัน ทุกกระทรวงต้องพิจารณาเช่นกัน เมื่อถามถึงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า กองทัพเรือกำลังพิจารณาเรื่องสัญญาและข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ ต้องครอบคลุมไปถึงงบฯปี 64 ที่ต้องจัดสรรเพื่อฟื้นฟูประเทศชาติ ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจด้วย

รถเกราะ–ปืนใหญ่–เครื่องบินสะดุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบฯปี 63 กห.ได้รับจัดสรรงบฯ 2.3 แสนล้านบาท เหล่าทัพได้ทบทวนภาพรวมไม่ให้กระทบงบฯประจำ โดยอาจยกเลิกงบฯ การดูงานต่างประเทศ การสัมมนาหรือปรับแผนลดขนาดการฝึกลง ส่วนงบลงทุนที่ต้องทบทวนและต้องชะลอ ได้แก่ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ การซ่อมบำรุง และปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ มีแผนจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล (สไตรเกอร์) ลอต 2 รวม 50 คันวงเงิน 4,500 ล้านบาท แผนจัดซื้อปืนใหญ่ 155 มม. 2,000 ล้านบาท ปืนใหญ่ 105 มม. 900 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท แผนจัดซื้อรถถังวีที 4 ลอตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท ส่วนกองทัพเรือมีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงินงบฯตั้งไว้ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงงบก่อสร้างที่จอดเรืออีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบฯปี 63-69 ส่วนกองทัพอากาศในงบฯปี 63 ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบฯ 4 ปี (63-66) วงเงิน 5,195 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบฯ 63-65)

สั่งเจรจาคู่สัญญา–ทำแผนสองยืดเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงกลาโหมให้เหล่าทัพ พิจารณาความจำเป็นแต่ละโครงการเอง โดยโครงการที่ตั้งในงบฯปี 63 และยังไม่ได้มีการอนุมัติขอให้ดูข้อกฎหมายและเจรจาประเทศคู่สัญญาเพื่อขอชะลอโครงการออกไปก่อน อีกทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับการทำแผนงบฯปี 64 ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วว่าควรไปบรรจุในงบฯปี 64 หรือไม่ รวมทั้งทำแผนสองหากสถานการณ์งบฯในปี 64 ยังไม่ดีขึ้นให้ชะลอออกไปอีก โดยให้คำนึงถึงการดำรงความพร้อมขั้นต่ำของกองทัพเท่าที่ทำได้