Categories
ข่าว

ข่าวดี!! ศบค. เตรียมชง ผ่อนคลายมาตรการ จว. ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 2 สัปดาห์ เปิดกิจการได้ ต้นเดือน พ.ค.

วันที่ 17 เม.ย.63 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เตรียมพิจารณาการผ่อนปรนมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือล็อกดาวน์ในสัปดาห์หน้า

โดยหลังจากที่วันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยถึงการผ่อนปรนมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือการล็อกดาวน์ ว่าขณะนี้มีการประชุมเพื่อเตรียมนำเสนอผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. ทีมวิชาการทางด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ สังคม และภาคเอกชน มีมาตรการตัวอย่างการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เช่น ตัวอย่างการเปิดร้านตัดผม

ผู้ประกอบการ
– ด้านสถานที่ต้องจัดที่นั่งรอ ที่นอนสระผมห่างกัน 1 เมตร และไม่ให้นั่งรอในร้าน แต่ใช้บัตรคิวแทน
– ด้านระยะเวลา ให้บริการที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เช่น ตัดผม สระผมเท่านั้น
– ด้านบริการ งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่น แต่งหน้า
– พนักงานใส่หน้ากากผ้าทุกคน ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย ให้พนักงานหยุดงานเมื่อมีอาการไข้ ไอ อาการทางเดินหายใจ
– ทำความสะอาด ล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำและผงซักฟอกทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย เช็ดพื้นผิวสัมผัสทุกชั่วโมงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดเจลล้างมือไว้หน้าร้าน

ผู้รับบริการ
– ใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในร้านตัดผม
– ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน

ตัวอย่างการเปิดห้างสรรพสินค้า ต้องจัดคิวนับจำนวนคนต่อพื้นที่ ถ้ามีพื้นที่ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร โดยทยอยเปิดร้านที่สำคัญก่อน ไม่เปิดทั้งหมด และงดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่จะรวมคนมามากๆ เช่น กิจกรรมนาทีทอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนที่นำเสนอ ศบค. พิจารณา ได้มีการแยก 3 กลุ่มจังหวัด ตามสถานการณ์การระบาดของโรคและบริบท และกำหนดแนวทางการผ่อนปรนมาตรการตามกลุ่มจังหวัด ได้แก่

กลุ่ม 9+ จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 2 สัปดาห์ จะเริ่มทยอยเปิดช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ได้แก่ น่าน, กำแพงเพชร, พิจิตร, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ชัยนาท, บึงกาฬ, ตราด, ระนอง (เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, สุโขทัย และอุทัยธานี…)

กลุ่ม 50+ จังหวัดที่มีผู้ป่วยประปรายในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเริ่มทยอยเปิด กลางเดือนพฤษภาคม

และกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, ภูเก็ต, ยะลา, สมุทรปราการ จะเริ่มทยอยเปิดช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยมีเงื่อนไขลดระดับการแพร่เชื้อในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งต้องไม่มีการติดเชื้อในกลุ่มก้อน (Cluster) และสามารถติดตามที่มาได้ รวมถึงมี Reproduction Number ในรอบสัปดาห์ปัจจุบันเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วไม่เกิน 1 เท่า

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อเสนอจากคณะนักวิชาการ และทีมงานในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ผลในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นหลังผ่านการพิจารณาในที่ประชุม ศบค. ช่วงสัปดาห์หน้า