Categories
ข่าว

ภัยแล้ง!! เขื่อนวังยาง มหาสารคาม ขอเกษตรกรสองฝั่งลำน้ำชี ชะลอการเริ่มเพาะปลูกพืชฤดูฝน

เขื่อนวังยาง จ.มหาสารคาม ประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับระดับน้ำเก็บกักให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนสองฝั่งลำน้ำชี และขอความร่วมมือชะลอการเพาะปลูกพืชออกไปก่อน ระดับน้ำหน้าเขื่อน 135.07 เมตร (รทก.) จากระดับเก็บกัก +137 เมตร (ร.ท.ก.)

ที่เขื่อนระบายน้ำวังยาง นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง นายจรัส เพ็ญศิริสมบูรณ์ ผอ.โครงการชลประทานมหาสารคาม นายพัฒนะ พลศรี สบ.3 คบ.ชีกลาง และสถานีอุตุนิยมวิทยามหาสารคาม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานประปาส่วนภูมิภาคมหาสารคาม พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนวังยาง ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเขื่อนวังยาง คณะกรรมการเปิดปิดน้ำ และอาสาสมัครชลประทาน ร่วมประชุมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนวังยาง ครั้งที่ 1/2563 โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนวังยาง ได้ร่วมกันพิจารณาแผนบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2563 ,การพิจารณาระดับน้ำเก็บกัก ,แผนการส่งน้ำในฤดูนาปี 2563


เบื้องต้น ให้ควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนอยู่ในระดับเก็บกัก +137 เมตร (ร.ท.ก.) หรือประมาณ 33 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และใช้เพื่อการเกษตรเฉพาะฝนทิ้งช่วงเท่านั้น พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกร ชะลอการเริ่มเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 ชะลอการสูบน้ำเพื่อการเกษตร จนกว่าจะมีฝนตกชุก พร้อมสังเกตปริมาณน้ำต้นทุน โดยเริ่มเพาะปลูกตามความเหมาะสม ปลูกพันธ์ข้าวอายุสั้น 85-90 วัน เพื่อการประหยัดน้ำ ส่วนพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำต้นทุน สามารถบริหารจัดการได้ตามดุลยพินิจของท้องถิ่น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะร่วมกันพิจารณาการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


นายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง เล่าว่า เขื่อนระบายน้ำวังยาง ปัจจุบันมีระดับน้ำหน้าเขื่อน 135.07 เมตร (ร.ท.ก.) ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำต้นทุน มีน้อยมาก จึงทำให้เขื่อนระบายน้ำวังยาง เน้นน้ำด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และไม่มีน้ำสนับสนุนสำหรับการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปี จะสูบน้ำสนับสนุนได้เมื่อมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ
จังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 36.88 ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้เท่านั้น จึงขอความร่วมมือเกษตรกรสองฝั่งลำน้ำชี ชะลอการสูบน้ำเพื่อการเกษตร