Categories
ข่าว

เรียกประชุมคณะกรรมการ พัฒนาการบริหารงานยุติธรรม ในระดับจังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เวลา 9.30 น. นายวันชัย คงเกษมผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดมอบหมายให้นายเลิศบุศย์ กองทองรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุม”คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 3/2563″ เพื่อติดตามการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

1. การติดตามการอำนวยความยุติธรรมในจังหวัดร้อยเอ็ด 4 กรณี ได้แก่
1.1. การให้ความช่วยเหลือ ปรากฎตามข่าว กรณีลูกชายสวป. ร้อยเอ็ด ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน หลังดูหมอลำซิ่ง ถูกคนร้ายดักซุ่มยิงกระสุนทะลุหน้าอกดับ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาจังหวัดร้อยเอ็ด อนุมัติเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 จำนวน 110,000 บาท
1.2. การให้ความช่วยเหลือปรากฎตามข่าว กรณีชายหนุ่มมีปากเสียงกับเพื่อนสุดท้ายถูกคนทำร้ายจนเสียชีวิตและเผานั่งยาง สำนักงานยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด รับคำขอวันที่ 14 เมษายน 2563 อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานและรอผลการพิสูจน์หลักฐานจากเจ้าหน้าที่่ตำรวจเพื่อประกอบการให้ความช่วยเหลือ
1.3. การให้ความช่วยเหลือปรากฎตามข่าว กรณีตำรวจร้อยเอ็ดรวบพ่อข่มขืนลูกสาวของตัวเองหลัง น้ารู้เลยพาหลานแจ้งความสำนักงานยุติธรรมจังหวัดรับคำขอวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานและรอผลตรวจพิสูจน์หลักฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
1.4. การให้ความช่วยเหลือ กรณีเมียสุดทนผัวขี้เหล้าเมาตบตี ขวานทุบหัว-มีดฟันคอจมกองเลือด เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดแจ้งสิทธิและรับคำขอเรียบร้อยแล้ว

2. รายงานสถานการณ์การอำนวยความยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่
2.1. การคุมขังผู้ต้องขังและผู้ต้องกักขังในจังหวัดร้อยเอ็ด
ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ดรายงานการควบคุมผู้ต้องขังช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 มียอดจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 3,860 คน แยกเป็นชาย 3,592 คน หญิง 268 คน
โดยจำแนกตามฐานความผิด ดังนี้
1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 2,430 ราย คิดเป็น 63 %
2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 346 ราย คิดเป็น 8 %
3. ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย จำนวน 284 ราย คิดเป็น 7 %
4. ความผิดเกี่ยวกับเพศจำนวน 124 ราย คิดเป็น 3 %
5. ความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียงและเสรีภาพ จำนวน 13 ราย คิดเป็น 2 %
6. ความผิดคนอื่นๆจำนวน 603 ราย คิดเป็น 16 %
2.2. การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ดรายงานห้วงเดือนพฤษภาคม มีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดจำนวน 51 ราย ลดลงจากเดือนเมษายนจำนวน 20 ราย
2.3. การบังคับยึดทรัพย์ ในคดีแพ่ง ของสำนักงานบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด ยึดทรัพย์จำนวน 98 คดี จำนวนเงิน 87,774,257.89 บาท
2.4. จำนวนผู้ถูกคุมประพฤติ ที่มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามนัดหมาย
1. คดีสอดส่อง จำนวน 100 ราย
2. คดีฟื้นฟู จำนวน 194 ราย

3. รายงานเรื่องการให้บริการประชาชน ของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งหมดจำนวน 26 ราย ได้แก่
3.1. อนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือประชาชนจำนวน 12 ราย จำนวนเงิน 160,650 บาท อนุมัติเงินประกันตัว 1 รายจำนวนเงิน 800,000 บาท
3.2. ยุติเรื่อง 2 ราย
3.3. ไม่อนุมัติเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ จำนวน 8 ราย
3.4. ส่งต่อส่วนกลางและจังหวัดอื่นๆจำนวน 4 ราย

4. รายงานเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์และการให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ยุติธรรมจังหวัด ดังนี้
4.1. ให้คำปรึกษาประชาชนคดีแพ่ง 242 คดีคดีอาญา 251 คดี
4.2. การพิจารณาคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าใช้จ่ายของจำเลยในคดีอาญาจำนวน 140 คดี
4.3. การจัดหาทนายความให้กับประชาชนจำนวน 78 คดี
4.4. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งและอาญาจำนวน 3 คดี

5. สถานการณ์ปัญหาการอำนวยความยุติธรรมภายในจังหวัดร้อยเอ็ด
5.1. กรณีหนุ่มร้อยเอ็ดฝ่าเคอฟิวส์ อ้างตำรวจนอกเครื่องแบบเตะปากฉีก เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดร้อยเอ็ดได้แนะนำและให้คำปรึกษากับผู้เสียหาย หากประสงค์จะดำเนินคดีให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และจะได้แจ้งสิทธิ และรับคำขอตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ต่อไป
5.2. กรณีหนุ่มใหญ่ นอนใต้ถุนบ้าน ถูกฟันหัวเลือดสาดบาดเจ็บสาหัส ส่วนคนฟันหลบหนีเจ้าตัวเผยสุดคงไม่รู้ว่าเป็นใคร เจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้ดำเนินการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญารายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว

6. ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทาง การดำเนินงานศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน โดยกระทรวงยุติธรรมได้วางระบบการป้องกันระหว่างการก่ออาชญากรรมเสทือนขวัญ ของผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อสังคม ภายหลังการปล่อยตัว เพื่อเฝ้าระวังดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินความสงบสุขของประชาชน โดยได้มีคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานและแนวทางให้หน่วยงานที่เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ให้ดำเนินการ ทั้งนี้จะแจ้งให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว