Categories
ข่าว

ร้อยเอ็ดเน้นย้ำมาตรการ เฝ้าระวัง เยียวยา การ์ดอย่าตก สู้วิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ ครั้งที่ 5/2563 ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายเจนเจตน์ เจนนาวิน ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ อัยการ นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้แทนองค์กรภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง

ก่อนการประชุมหัวหน้าส่วนราชการฯ ได้มีการจัดพิธีมอบที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ให้กับธนารักษ์พื้นที่ร้อยเอ็ด
จากนั้นที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ได้แก่ แนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจัดตั้งจุดเคาน์เตอร์บริการอำเภอ..ยิ้ม ที่ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ร้อยเอ็ด / รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และมาตรการให้ความช่วยเหลือ การอุทธรณ์เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 / รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 / การดำเนินงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด / ปฏิทินกิจกรรมสำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำเดือนมิถุนายน 2563 / ข้อมูลและแผนการรับบริจาคโลหิต / ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) / การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล / ดัชนีราคาผู้บริโภคของจังหวัดร้อยเอ็ด เดือนเมษายน ๒๕๖๓ / รายงานผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2562 / สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า / สรุปผลการดำเนินงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้เน้นย้ำในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (Covid-19)
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ตามมาตรการที่เกี่ยวข้องก็จะยังคงความเข้มข้นในการปฏิบัติเช่นเดิม เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดจนเพื่อป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการติดเชื้อ จังหวัดจึงขอย้ำให้อำเภอ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้คงการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดโดยเคร่งครัดจนกว่าจะมี คำสั่งเปลี่ยนแปลง
2. มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) เราไม่ทิ้งกัน ขอให้ทุกอำเภอได้เน้นย้ำไปยัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งผ่านหอกระจายข่าว ให้ผู้ที่เคยลงทะเบียนผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ได้รับทราบ หากยังไม่ได้รับเงินเยียวยาและมีความประสงค์ท่ีจะร้องทุกข์/ร้องเรียนนั้น ให้รีบมาร้องทุกข์/ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อคลังจังหวัดจะได้รวบรวมคำร้อง แจ้งกระทรวงการคลังต่อไป
3. แพรตฟอร์มไทยชนะย้ำว่าแพรตฟอร์ม “ไทยชนะ” ไม่ใช่การบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติ แต่หากปฏิบัติจะเป็นผลดีต่อสถานประกอบการและผู้ใช้บริการเกิดประโยชน์ต่อการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกท่าน รวมถึงเจ้าพนักงานควบคุมโรคได้เข้าใจและสื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน
4. การเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ขอให้เตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดภาคเรียน โดยต้องมีมาตรการป้องกันโรคให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองว่าบุตรหลานจะปลอดภัยเมื่อกลับเข้าสู่สถานศึกษา
5.การเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการการเตรียมความพร้อม ดังนี้

1) ติดตามสภาพอากาศ วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ฯ ในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลการ
ตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับในการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน
2) จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย
3) การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ
4) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ
5) การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์จากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม
ขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการฯ แต่ละระดับ เพื่อเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า

พร้อมนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) เพื่อติตามสถานการณ์และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID-19) ครั้งที่ 12/2563
ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิด 19 (COVID-19) และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ของจังหวัด สถานการณ์โรคโควิด 19
1. มาตรการป้องกันและควบคุมโรค
2. มาตรการการบำบัดรักษา
3. มาตรการสร้างการรับรู้และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน
4. มาตรการเยียวยาและฟื้นฟู
5. มาตรการควบคุมราคาสินค้าและป้องกันการกักตุนสินค้า
6. มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย
7. มาตรการบริหารจัดการ

ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เน้นย้ำและสั่งการในที่ประชุม ดังนี้
1. เนื่องจากการร้องทุกข์/ร้องเรียน มาตรการของกระทรวงการคลัง ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จะปิดการรับคำร้องตามแบบของกระทรวงการคลัง ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2563 ขอให้ทุกอำเภอ
ได้เน้นย้ำไปยัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งผ่านหอกระจายข่าว ให้ผู้ที่เคยลงทะเบียนผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ได้รับทราบ หากยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ให้รีบร้องทุกข์/ร้องเรียน ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อคลังจังหวัดจะได้รวบรวมคำร้อง แจ้งกระทรวงการคลังต่อไป
2. กรณีผู้ขอทบทวนสิทธิ ยังไม่ได้พบผู้พิทักษ์สิทธิ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด ให้อำเภอกำชับผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแจ้งหอกระจายข่าว ให้รีบติดต่อธนาคารกรุงไทยที่อยู่ใกล้ที่พัก
เพื่อยืนยันข้อมูล ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563
3. ด้วยปรากฎในทางคดีว่า แม้จะมีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์
ฉุกเฉินฯ ยังปรากฎว่ามีประชาชนบางคน ยังมีการมั่วสุมเล่นการพนัน โดยไม่ใส่ใจต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ขอให้ทางตำรวจกำชับสายตรวจตำบล ทางอำเภอให้กำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากปรากฎว่ายังมีเหตุการณ์เกิดในท้องที่ความรับผิดชอบของใคร ในลักษณะปล่อยปละละเลย ไม่หมั่นตรวจตราท้องที่ หรือมีพฤติกรรมแอบแฝงหาผลประโยชน์ ในลักษณะการเก็บส่วย เมื่อมีการจับกุมทุกครั้ง ขอให้ถือเป็นนโยบายว่าตำรวจหรือฝ่ายปกครองที่ทำการจับกุม ต้องรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงพฤติการณ์ว่า สถานที่ถูกจับกุมทุกคดี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เบื้องหลังหรือไม่ หรือใครหย่อนยานหรือไม่ เพื่อจะได้กำราบปราบปราม ให้หมดเสี้ยนของแผ่นดินต่อไป
4. ระบบไทยชนะ จะมีการบันทึกข้อมูล เจ้าพนักงานควบคุมโรคในระบบ “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” เพื่อการประมินสถานประกอบการออนไลน์ ขอให้อำเภอจัดส่งรายชื่อตำบลละ 10 คน ที่เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข เพื่อจังหวัดจะได้ประสานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนกลาง บันทึกในระบบ ให้เป็นผู้ทักษ์ไทยชนะ และสามารถเข้าประเมินสถานประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ได้ต่อไป
5. สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม ให้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียน โดยต้องมีมาตรการป้องกันโรคให้ปรากฏเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองว่า บุตรหลานจะปลอดภัย เมื่อกลับเข้าสู่สถานศึกษา