Categories
ข่าว

จ่อเปิดเทอม ร้อยเอ็ดวางมาตรการเข้ม โรงเรียนต้องผ่านการประเมิน ป้องกันโควิด-19

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 เวลา 15.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่องสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 74 ณ ห้องประชุมข้าวหอมมะลิ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พ.อ.วีระพงษ์ คำสิทธิ์ รอง ผอ.รมน.ร้อยเอ็ด นายโสภณ เจริญพร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และนายศฎายุช ไชยะลาด จ่าจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมแถลงข่าว

จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 29 มิถุนายน 2563) จำนวน 366 ราย ไม่มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อรายใหม่ พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 สะสม จำนวน 3 ราย (รักษาหายทั้ง      3 ราย) ตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 363 ราย การค้นหาเชิงรุกผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด (ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 17 – 29 มิถุนายน 2563) จำนวน 102 ราย ตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 84 ราย รอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ 18 ราย

สถานการณ์ทั่วโลกใน 211 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ (ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม ถึง 29 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ จำนวน 10,243,858 ราย (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 163,172 ราย) เสี ยชีวิต 504,410 ราย (มีผู้เสี ยชีวิตเพิ่ม 3,454 ราย) ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 2,637,077 ราย เสี ยชีวิต  128,437 ราย รองลงมา คือบราซิล 1,345,254 ราย เสี ยชีวิต 57,658 ราย  และรัสเซีย 634,437 ราย เสี ยชีวิต 9,073 ราย

สถานการณ์ในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2563) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม จำนวน 3,169 ราย มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย เสี ยชีวิตสะสม 58 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ในลำดับที่ 95 ของโลก

การเปิดภาคเรียนในสถานการณ์โรคโควิด-19 ต้องมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ โดยวิเคราะห์จากข้อมูล 3 ประเด็น คือ
1. เด็กติดเชื้อมากขนาดไหน ซึ่งไทยไม่ต่างจากประเทศอื่น เด็กไทยอายุ 10-19 ปี ติดเชื้อร้อยละ 3.81 เป็นการติดเชื้อจากผู้ปกครองหรือคนในบ้าน
2. เด็กติดเชื้ออันตรายเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จะใกล้เคียงโรคที่เจอในเด็กอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัด เป็นต้น
3. เด็กแพร่เชื้อมากเพียงใด ซึ่งเด็กมักไม่มีอาการ มีการใกล้ชิดกับเพื่อนในโรงเรียน การเปิดโรงเรียนจึงมีความเสี่ยงในแง่จำนวนเด็ก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นการรวมเด็กหลายครอบครัวมาอยู่ในโรงเรียน
จังหวัดร้อยเอ็ด จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา โดยออกแบบจุดคัดกรองให้เหมาะสม เพราะโรงเรียนมีขนาดไม่เท่ากัน และขอความร่วมมือกับผู้ปกครองถ้านักเรียนมีไข้ ขอให้หยุดเรียนอยู่บ้านสังเกตอาการ หรือพาไปพบแพทย์รวมทั้งแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ  

2. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ในทุกช่วงชั้นขณะอยู่ในโรงเรียน อยู่ในห้องเรียน รวมทั้งบนรถโดยสาร ตลอดจนในที่ชุมนุมชน ให้คุณครูกำชับนักเรียนให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
3. จุดทำความสะอาดล้างมือ ตั้งแต่ทางเข้าโรงเรียน ต้องทำเส้นทางให้ไปจุดล้างมือก่อนไปเข้าชั้นเรียน
4. ออกแบบระยะห่างในชั้นเรียน แต่เด็กอาจเว้นระยะห่างได้ยาก ก็อยากให้จัดกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆ และให้เป็นกลุ่มเดียวกันไปตลอดทั้งวัน เมื่อพบความผิดปกติก็จะติดตามได้รวดเร็ว
5. การทำความสะอาด เน้นพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมทุกวัน เช่น สนามเด็กเล่นก็อาจหมุนเวียนเด็กกลุ่มเล็กๆ ออกมาเล่น แล้วทำความสะอาดระหว่างกลุ่มผลัดเปลี่ยนกิจกรรม และล้างมือก่อนเล่นหลังเล่น ก็จะลดการแพร่ระบาดโรค
6. เรื่องความแออัด หลายกิจกรรมที่คงจัดไม่ได้ เช่น กีฬาสี ที่เป็นความเสี่ยงในการรวมกลุ่มใกล้ชิด อาจต้องงดไปก่อน
 
ขอเชิญชวนชาวร้อยเอ็ดร่วมใจ ใช้ชีวิตวิถีใหม่ ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19
“อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด ปราศจากแออัด จัดไปไทยชนะ”