Categories
ข่าว

มาเป็นทีม!! ส.ส. “ทีมองครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ” ประท้วงผู้นำฝ่ายค้าน สกัดญัตติ กล่าวหา “บิ๊กตู่” แอบอ้างสถาบันฯ

ส.ส. รัฐบาลที่ถูกวางตัวเป็น “ทีมองครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ” ใช้เวลาประท้วงและกีดขวางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งให้อ่านข้ามข้อความ และขู่ยื่นยุบพรรค แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากประธานสภายืนยันว่าต้องดำเนินการตามญัตติที่บรรจุไว้แล้ว

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน ต้องล่าช้ากว่ากำหนดที่ประธานสภานัดหมายเกือบ 1 ชม. เพราะเมื่อถึงเวลา 09.00 น. มีสมาชิกมาลงชื่อเพียง 68 คน จากองค์ประชุมที่ต้องการ 244 คน (ต้องเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน)

นอกจากนี้รัฐบาลยังเปิดเกมสกัดศึกซักฟอกตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วาระการประชุม เมื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แสดงความไม่สบายใจต่อถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในญัตติของฝ่ายค้าน และพยายามทักท้วงมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา รับปากว่าจะนำไปหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน

“ท่านอ่านข้ามไปได้ไหม ในส่วนญัตติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทั้งหมด คิดว่าการประชุมจะราบรื่นและเป็นไปได้ด้วยดี” นายวิรัชเสนอแนะกลางสภา

ประธานวิปรัฐบาลยังแสดงความเห็นใจนักการเมืองต่างขั้วโดยระบุว่า “เชื่อว่าผู้นำฝ่ายค้านจำเป็นและจำใจ เพราะทราบว่าท่านเป็นคนจงรักภักดี” และย้ำว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจะทักท้วงให้ล่าช้า แต่เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้แจงว่า แม้กังวลเรื่องความราบรื่นเรียบร้อยในการประชุม แต่หลักนิติรัฐเป็นสิ่งที่ต้องยึดไว้ เมื่อประธานสภาให้บรรจุญัตตินี้ จึงถือว่าถูกข้อกฎหมายและข้อบังคับ หากไปแก้ไขเสียก็จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ดังนั้นไม่ควรแก้กฎหมาย แต่ให้แก้ที่สำนึก ทว่าเขาหลุดปากยอมรับว่า “ไม่สบายใจ แต่จำเป็นต้องอ่านตามญัตติ” ไม่ควรละเว้น เพราะเป็นการแสดงว่าความเห็นของประธานไม่ชอบ การบรรจุญัตติครั้งนี้ผิดพลาด

หลังจากนั้น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกวางตัวเป็น “ทีมองครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ” ได้ลุกขึ้นทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ทั้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม., นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ รวมถึง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า หากปล่อยให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติจะเป็นปัญหา เพราะเป็นการกระทำต้องห้ามตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และประกาศจะใช้สิทธิประท้วงเต็มที่เพื่อรักษารัฐธรรมนูญ และจะไม่ยอมให้ใครกล่าวถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ

รองหัวหน้า พปชร. รายนี้เป็นเจ้าของญัตติด่วนคาสภา ขอให้สภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 และข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 49 เนื่องจากเห็นว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเบื้องสูง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และยังเป็นมือยื่นยุบ ทษช. ก่อนการเลือกตั้งปี 2562

“มีคนไปนับมาแล้วว่าข้อกล่าวหานายกฯ มี 30 ประเด็น ทำไมต้องเอาเรื่องต้องห้ามมา นั่นคือเหตุ ส่วนผมคือผล ต้องดำเนินการเพราะท่าน ผมเป็นคนยื่นยุบ ทษช. เตือนด้วยความหวังดี ถ้าไม่ฟัง” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่นายสิระกล่าวหานายสมพงษ์ว่า “ได้รับสัญญาณจากดูไบให้ต้องบรรจุให้ได้ คิดว่าเรื่องนี้ผู้นำฝ่ายค้านโดนแทรกแซงจากต่างประเทศ”
ส่วน น.ส.ปารีณา ประท้วงประธานให้ทำหน้าที่เป็นกลาง พอฝ่ายค้านพูด ให้สิทธิเต็มที่ แต่พอนายไพบูลย์พูด กลับถูกตัดบท “วันนี้ท่านกำลังเปิดสภาให้จาบจ้วงสถาบันฯ”

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา กล่าวชี้แจงตอนหนึ่งว่า ในการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ จะดูว่ามีข้อความใดละเมิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาเห็นร่วมกันว่าไม่มี แต่เป็นการกล่าวหารัฐบาลอย่างรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ส่วนตัวจึงทักท้วงไป เพราะถ้าข้อความนี้ปรากฏ รัฐบาลคงไม่อยู่เฉย รัฐบาลต้องตอบ และคำตอบนั้นอาจเป็นผลลบต่อผู้อภิปรายเอง อาจมีการแจ้งข้อกล่าวหา และตกเป็นจำเลยของประชาชนได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อผลหารือของฝ่ายค้านยืนยันตามเดิม ญัตติก็ต้องบรรจุ

“ดังนั้นญัตตินี้ถูกต้องตามข้อบังคับทุกอย่าง เป็นสิทธิของผู้เสนอญัตติ ส่วนถ้าใครจะประท้วงก็เป็นสิทธิ แต่ประธานจะเป็นผู้วินิจฉัย” และ “ถึงไม่อ่าน ยังไงญัตติก็เป็นญัตติแล้ว” ประธานสภากล่าว

ในทัศนะของนายชวน ไม่มีปัญหาว่าจะอภิปรายได้หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยมีญัตติทำนองนี้มาแล้วสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ดังนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้อยคำต้องไม่ละเมิดต่อสถาบันฯ

ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติรายนี้ยังบอกด้วยว่า “ถ้าวันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติไม่ชอบ ผมต้องรับผิดชอบ”

นอกจากนี้นายชวนยังนำความกังวลใจของสถานีโทรทัศน์รัฐสภามาแจ้งต่อบรรดา ส.ส. ด้วยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ไม่เช่นนั้นสถานีโทรทัศน์รัฐสภาจะถูกระงับการออกอากาศทันที และอาจถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต

หลังเปิดให้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางราว 1 ชม. นายชวนได้ชี้แจงกติกาในศึกซักฟอก และเข้าสู่วาระเวลา 10.45 น. ด้วยการเปิดให้นายสมพงษ์เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ “เป้าแรก” ที่ฝ่ายค้านจ้องถล่มตลอดวันนี้ (16 ก.พ.)

หลังจากนายสมพงษ์อ่านญัตติไปได้เพียง 5 นาที ได้เกิดเหตุประท้วงอีกครั้ง ในระหว่างบรรยายข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ รวม 21 บรรทัด
พลันที่มาถึงข้อความว่า “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายไพบูลย์คนเดิมก็ยกมือใช้สิทธิประท้วงทันที โดยให้เหตุผลว่าผู้นำฝ่ายค้านกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น ทำให้สถาบันฯ ที่ควรอยู่เหนือการเมือง ถูกนำมาเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายการเมือง การอภิปรายล้วนแต่ทำให้มีปัญหาและสร้างความเสียหายต่อสถาบัน

ทว่านายชวนวินิจฉัยว่า ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติไม่ตกหล่นแม้สักคำ คำประท้วงไม่มีผล และให้อ่านต่อไป แต่หลังจากนั้นนายไพบูลย์ และ น.ส.ปารีณา ก็ประท้วงแทรกขึ้นมาอีกรายละครั้งเมื่อผู้นำฝ่ายค้านอ้าปากพูดคำว่า “สถาบันฯ” แต่นายชวนยืนยันคำวินิจฉัยเดิมว่าญัตติบรรจุไว้เช่นนั้น จำเป็นต้องอ่านตามนั้น จึงสามารถเดินหน้านำเสนอญัตติได้จนจบ

เบ็ดเสร็จแล้ว นายสมพงษ์ถูกประท้วงไป 3 ครั้งในเวลาครึ่งชั่วโมงที่นำเสนอญัตติ

สำหรับคำบรรยายพฤติการณ์ของนายกฯ ที่ ส.ส.พรรครัฐบาล พยายามกีดขวางไม่ให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านกลางสภาคือ “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

ศึกซักฟอกรัฐมนตรีเกิดขึ้นเป็นหนที่ 2 ของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ซึ่งการอภิปรายจะดำเนินไปต่อเนื่อง 4 วัน 4 คืน โดยวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านตกลงกรอบเวลากันไว้ว่า ฝ่ายค้านมีเวลาอภิปราย 42 ชม. โดยพยายามให้จบภายใน 02.00 น. ของแต่ละวัน ยกเว้นวันที่ 19 ก.พ. ที่วิปรัฐบาลเสนอให้ยุติการอภิปรายในเวลา 22.00 น. ก่อนที่ ส.ส. จะลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.พ.