Categories
ข่าว

หยุดเชื้ออยู่บ้าน!! ‘กรมการแพทย์’ แจงวิกฤตเตียงไอซียู คาดรับได้อีก 20 วัน วอนประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง 2 สัปดาห์

วันที่ 23 เม.ย.64 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ต่างจังหวัด ไม่มีปัญหา เพราะบริหารจัดการโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฝ่ายเดียว และ 2.พื้นที่ กทม.ที่เห็นเป็นปัญหา เพราะมีหลายหน่วยงานดูแล จึงต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานทำ Hospitel เพื่อแยกกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรืออาการไม่มากเข้าไปอยู่

ตอนนี้หาได้ 5-6 พันเตียง เข้าอยู่แล้วประมาณ 3 พันคน นอกจากนี้ พยายามจัดกลุ่มสีเหลืองอ่อนไปอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ 200 เตียง รับเข้าแล้ว 50 คน วันนี้จะส่งเข้าอีก 50 คน จากนั้นพยายามให้ รพ.ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ผ่องถ่ายคนไข้สีเขียวออกมาอยู่ รพ.สนาม และ Hospitel แทน เพื่อรีบเอาคนที่มีอาการสีเหลืองแก่ถึงแดงเข้าไปรักษาใน รพ.

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าในส่วนของเครื่องช่วยหายใจไม่ได้มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาอยู่คือไอซียู ซึ่งมีปัญหาเฉพาะใน กทม. จากข้อมูลตอนนี้รวม รพ.ทุกสังกัดมีประมาณ 700 เตียง ว่างอยู่ประมาณ 140 เตียง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และมีผู้มีอาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ คาดกันว่าเตียงไอซียูจะรองรับได้ประมาณ 10 วัน

แต่ตอนนี้ รพ.แต่ละแห่งไปขยายเพิ่มเติมก็คาดว่า จะสามารถรองรับได้ 20 วัน โดยทำโคฮอร์ทไอซียู สำหรับคนรักษาในไอซียูเฉลี่ยใช้เวลา 14-20 วัน เราต้องพยายามเอาคนติดเชื้อเข้าสถานพยาบาลเพื่อให้ได้รับการดูแล คนสีเหลืองอ่อนๆ ต้องได้รับยาเพื่อที่อาการจะได้ไม่หนัก แบบนี้ไอซียูถึงจะเพียงพอ นอกจากนี้ทุกคนต้องช่วยกันดึงจำนวนผู้ติดเชื้อลง ช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องล็อกดาวน์ตัวเอง ไม่ควรกินข้าวร่วมกันแม้แต่คนในครอบครัว

เมื่อถามว่ารัฐยืนยันตลอดว่าเตียงพอ แต่ทำไมยังมีคนหาเตียงไม่ได้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เตียง รพ.สนาม และ Hospitel เรามีพอ อย่างตอนนี้ รพ.เลิดสินก็ว่าง แต่ไม่มีใครส่งมาแอดมิท จริงๆ กทม. แล็บที่ตรวจต้องเคลียร์ตัวเลขตกค้างมาให้เรา เพราะตอนนี้ปัญหาคือเราไม่รู้ต้นทางของผู้ติดเชื้อ คนไปตรวจที่แล็บเอกชน ไม่มีเอกสารการรับรอง ไม่มีการส่งข้อมูลรายงานมา กรมการแพทย์ 1668 ที่เป็นคนรับปลายทางตอนนี้ ถึงต้องรุกมาทำในส่วนของต้นทางด้วย เราขอแค่ชื่อกับเบอร์โทร.เท่านั้น แล้วจะได้ติดต่อไป เพราะต้องการเอาผู้ติดเชื้อมาดูแลให้เร็ว โดยเฉพาะคนที่สีเหลืองอ่อนที่ต้องให้ยา ถ้าเราให้ยาเร็วเขาก็จะอาการไม่หนัก

“วันนี้ ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขมีการคุยกันถึงว่าจะเอาคนที่ไม่มีใบรับรองการติดเชื้อเข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลก่อนด้วยซ้ำ แต่ต้องแยกออกจากคนที่ยืนยันติดเชื้อแล้ว เพราะเรายังห่วงเรื่องผลบวกปลอม ซึ่ง สปสช.ก็ยอมเรื่องการแอดมิทคนที่ไม่มีใบรับรองแล้ว แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนไปตรวจแล็บมาแล้วให้ขอใบรับรองมาด้วย ส่วนติดเชื้อตกค้างตามที่รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ผ่าน 1668 จำนวน 400 ราย เราก็หาเตียงให้ได้หมดแล้ว สำหรับคนที่รอเตียงแล้วอาการแย่ลงสามารถโทร 1669 ได้ ซึ่งจะดูแลในเคสฉุกเฉิน” นพ.สมศักดิ์กล่าว