Categories
ข่าว

แพทย์เตือน! อย่ากินดิบ ปรุงให้สุก หลังไข้หูดับคร่าอีก 1 ราย

 

วันที่ 22 มิ.ย. 64 นายแพทย์รัฐภูมิ ชามพูนท ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มีความเป็นห่วงประชาชน จึงขอเตือนประชาชนให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก งดเว้นการับประทานอาหารดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากเชื้อแบคทีเรีย หรือติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หลังจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มีรายงานผลสอบสวนโรคเบื้องต้นไข้หูดับ เสียชีวิต จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 49 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ดื่มสุรา

โดยวันที่ 12 มิ.ย. 64 ได้ซื้อหมูสไลด์แช่แข็ง มาหั่นและผู้เสียชีวิตมีบาดแผลที่มือ มาประกอบอาหารต้ม ย่าง ปิ้งหมูกระทะ ร่วมรับประทานกัน 7 คน และในวันที่14 มิ.ย. ได้สั่งหม่าล่า มารับประทาน จนกลางดึกเริ่มมีอาการท้องเสีย อาเจียน จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ต่อมา ในช่วงเช้าวันที่ 15 มิ.ย. อาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดกระดูก หนาวสั่น ปากเขียว และเข้ารับการรักษา ในห้องไอซียู แต่ร่างกายไม่ตอบสนอง ก่อนจะเสียชีวิตลงในเวลา 23.58 น. และหลังจากเสียชีวิต แพทย์สงสัยโรคไข้หูดับ จึงได้ส่งตรวจ พบเชื้อเชื้อ streptococcus suis

นายแพทย์รัฐภูมิ เปิดเผยว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อ streptococcus suis เป็นเชื้อแบคทีเรีย ตามปกติแล้วเชื้อชนิดนี้พบเจอได้ในสุกร แต่หากนำเนื้อหมูมาปรุงทำให้สุก เชื้อก็จะตายไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้โอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดน้อยลง และในกรณีที่มีบาดแผลตามตัวหรือมือ ต้องระวังอย่าสัมผัสเลือดหมู หรือสิ่งสกปรกทั่วไป เพราะจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นในกระแสเลือด จนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ เพราะปัจจุบันพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีโกาสเสียชีวิตสูง เพราะภูมิต้านทานต่ำ

การป้องกันคือ ขอให้ประชาชนดูแลตนเองให้สะอาด ถูกสุขอนามัย รับประทานอาหารปรุงสุก หากมีบาดแผลตามร่างกาย ต้องดูแลอย่าให้เกิดติดเชื้อ ให้รักษาความสะอาด ดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการไม่สบาย มีอาการเพลีย มีไข้ ขอให้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินด้วยสัญญาณชีพ จะได้รับรักษาอาการได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และหากพบว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะต้องรีบให้ยา ปฏิชีวนะ ซึ่งบางครั้งหากติดเชื้อรุนแรงก็ไม่สามารถรักษาและเสียชีวิตได้ ส่วนการรับประทานหมูกระทะหรือชาบู ขอให้ทำหมูให้สุก การใช้ตะเกียบหรือช้อน จะต้องทำความสะอาดก่อน หรือใช้ของใหม่ เพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรีย streptococcus suis และอย่าสัมผัสกับหมูดิบหากมีบาดแผล
สถานการณ์โรค streptococcus suis

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานผู้ป่วยโรค streptococcus suis ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 22 มิ.ย. 64 จำนวนทั้งสิ้น 12 ราย คิดเป้นอัตราป่วย 1.35 ต่อประชาชนกรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราตายต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 0.11 อัตราผู้ป่วยตายเท่ากับร้อยละ 8.33