Categories
ข่าว

ไม่ขาดทุนแล้ว!! การบินไทย โชว์กำไร 9 เดือนแรกปี 64 กว่า 5 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไตรมาสแรกยังทําการบินปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 70.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 93.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 13.9% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 67.0% และมีจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.82 ล้านคน ลดลงจากปี ก่อน 83.8%

สําหรับด้านการขนส่งสินค้า มีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 65.2% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 38.4% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.7% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 56.2%

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 29,185 ล้านบาท (76.5%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,288 ล้านบาท (24.1%) เนื่องจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศไทยและประเทศต่างๆ แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,243 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักกลบลบหนี้ ค่าบริการรายเดือน และการซ่อมบํารุงตามสัญญาที่ค้างชําระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์

สําหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท (53.3%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดําเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งลดลง และถึงแม้จะมีการดําเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทําการบินได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดทุนจากการดําเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 12,465 ล้านบาท (36.7%)

ในงวดเก้าเดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นรายได้รวม 73,084 ล้านบาท ประกอบด้วย

กำไรจากการขายเงินลงทุน 2,202 ล้านบาท
กำไรจากการขายทรัพย์สินจํานวน 628 ล้านบาท
กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จํานวน 60,730 ล้านบาท
เงินชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร 4,936 ล้านบาท
เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน 1,222 ล้านบาท
การปรับปรุงรายการผลประโยชน์พนักงาน ลดลง 8,323 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร และผลประโยชน์ของพนักงาน
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน (กลับรายการ) จํานวน 18,440 ล้านบาท
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (กลับรายการ) จํานวน 116 ล้านบาท
ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจํานวน 11,197 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดําเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16
บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 51,115 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 51,121 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 23.42 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 22.70 บาท โดยมี EBITDA เป็นลบ จำนวน 9,639 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 5,044 ล้านบาท EBITDA Margin เท่ากับ -64.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ -10.4%

สำหรับรายได้ของบริษัท และบริษัทย่อย ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท ลดลง 29,230 ล้านบาท (66.1%) โดยรายได้มาจาก

รายได้มาจากค่าโดยสาร และค่าน้ำหนักส่วนเกิน 2,529 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 29,819 ล้านบาท
รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จํานวน 6,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 634 ล้านบาท
รายได้การบริการอื่นๆ ประกอบด้วยรายได้จากหน่วยธุรกิจ ได้แก่ การบริการภาคพื้น ครัวการบิน การบริการคลังสินค้า และรายได้จากกิจการสนับสนุนอื่นๆ รวมจํานวน 4,058 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,288 ล้านบาท

รายได้อื่น จํานวน 1,968 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,243 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการบันทึกรายได้จากการหักกลบลบหนี้ค่าบริการ และซ่อมบํารุงเครื่องยนต์ จํานวน 45.5 MUSD หรือประมาณ 1,457 ล้านบาท ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) มีแผนขับเคลื่อนธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทัวโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งให้ความสําคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการค้า ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนมีประสิทธิภาพสูงในด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย และเชื่อมโยงกับภูมิภาค

สําหรับในช่วงไตรมาสที่สี่ปีนี้ บริษัทฯ เริ่มกลับมาทําการบินในเส้นทางระหวางประเทศครอบคลุมทั่วทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย รวมทั้งหมด 36 เส้นทางบิน พร้อมบริการแบบเต็มรูปแบบและเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค COVID-19 รองรับนโยบายการเปิดประเทศของไทย เพื่อขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อการดําเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยและเชื่อมั่นของผู้โดยสารเป็นสำคัญ.

การบินไทย