Categories
ข่าว

“จุรินทร์” ลั่น! ประชาธิปัตย์มาถูกทางแล้ว หลังเข้าร่วมรัฐบาล ยอมรับภาวะเลือดไหลออก

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.64 การประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. มีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจาก 2 ผู้บริหารพรรคลาออกไปก่อนหน้านี้
ผลปรากฏว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา สมัยแรก เอาชนะคู่แคนดิเดตอย่างนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย ไปด้วยคะแนน 58.9% ต่อ 39.4% จากองค์ประชุมทั้งสิ้น 350 คน ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรค (ดูแลพื้นที่ภาคใต้)

ขณะที่ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ตกเป็นของนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช โดยไม่มีผู้อื่นลงแข่งขัน

ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ใน กก.บห. ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังอยู่ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค

จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8
ประชาธิปัตย์ ยก “พระเจ้าตากโมเดล” อ้างต้องเดินหน้าร่วมรัฐบาล พปชร.
เปิด 7 ข้อโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “ฟังไม่ขึ้น” ก่อนสั่ง 5 อดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส.
จาก “ดร. เอ้” อธิการบดี สจล. ผู้ “ไม่กลัวทัวร์” ก่อนเปิดตัวลงผู้ว่าฯ กทม.
ภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของรองหัวหน้าภาคใต้คนใหม่คือการนำทีมสู้ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ ส.ส.สงขลา เขต 6 เพื่อรักษาเสียงในสภาของพรรค หลังจากอดีตแกนนำ กปปส. ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีถูกคุมขังโดยหมายศาลจากคดีกบฏ

ปัจจุบัน ปชป. เป็นพรรคอันดับ 5 ในสภา มี ส.ส. อยู่ 49 เสียง

นายเดชอิศม์ รองหัวหน้าพรรคคนใหม่ ประกาศว่าจะเอาที่นั่ง ส.ส.ภาคใต้กลับมาให้ ปชป. ไม่ต่ำกว่า 35 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้เพียง 22 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งซ่อมใน จ.สงขลา และ จ.ชุมพร ตามมารยาทพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ควรส่งผู้สมัครลงแข่ง แต่เมื่อส่งลงแข่ง ก็ขอสู้เต็มที่และพร้อมชน มั่นใจว่าชาวใต้เข้าใจการเมืองช่วงนี้อย่างละเอียดถ่องแท้ จึงคิดว่าตัดสินใจไม่ยากนัก พร้อมแย้มว่าจะชูนโยบายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภาคใต้ เพราะแต่ละปี รัฐจัดซื้องบอาวุธเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยทำสงครามอะไร แต่กลับละเลยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิตเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ลูกพรรคร่อน จม.เปิดผนึกร่ายเหตุ ปชป. ตกต่ำ
ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กก.บห.ปชป. เกิดขึ้นหลังจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย ได้ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคที่อยู่มานานถึง 29 ปี เมื่อ 6 ธ.ค. โดยให้เหตุผลว่าจุดแตกหักในการตัดสินใจมาจากการที่พรรคส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.พัทลุง โดยไม่ได้บอกหรือสอบถามตัวเอง ทั้งที่มีผู้สมัครในใจและผ่านการพูดคุยในพรรคไปแล้ว ทำให้คิดว่าอยู่ต่อไปก็ คงไม่มีประโยชน์กับพรรคแล้ว

นายนิพิฏฐ์เตรียมเปิดตัวเป็นขุนพลของพรรคการเมืองใหม่ในเดือน ม.ค. 2565 และยังบอกอดีตเพื่อนร่วมพรรคว่า “ใครที่เชื่อใจผม ก็ให้ตามผมไป”

เช่นเดียวกับนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย ที่ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ โดยในวันนี้เขาได้นำหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกพรรค ปชป. ทั่วประเทศ มาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนก่อนการประชุมใหญ่ด้วย

เนื้อหาของจดหมายมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า คณะผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันทำให้พรรค “แย่ลงอย่างหนัก” สะท้อนผ่านการที่สมาชิกพรรคทยอยลาออกไป และเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้พรรคตกต่ำคือการเปลี่ยนจุดยืนของพรรค จากเคยต่อสู้กับเผด็จการ ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และยึดมั่นในระบบรัฐสภา ไปสู่ความเป็นพรรคที่หนุนเผด็จการ-ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร-เปิดทางให้รัฐประหาร-ไม่รักษาหลักการประชาธิปไตย และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา ด้วยการกำชับให้ ส.ส. โหวตไว้วางใจนายกรัฐมนตรีก่อนฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นายอันวาร์ยังกล่าวหา นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค” เพราะแม้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา จากกรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด คดีทุจริตต่อหน้าที่ กรณีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ 50 ล้านบาท ให้เอกชน และถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ได้โดยหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ

ส.ส. ชายแดนภาคใต้รายนี้ยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค แต่ถ้าผู้บริหารพรรคมีมติขับออกจากพรรค หรือไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ยินดี

อย่างไรก็ตามนายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้า ปชป. ปฏิเสธจะให้ความเห็นต่อความเคลื่อนไหวของนายอันวาร์ และกล่าวว่าจะไม่สอบถามถึงสาเหตุ เพราะที่ผ่านมา นายอันวาร์ทำหนังสือมาบ่อยครั้ง และพรรคยังมีภารกิจที่จะต้องเดินไปข้างหน้าจำนวนมาก

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการ ปชป. ระบุว่านายอันวาร์ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ออกมาพูดกับสื่อมวลชน

จุรินทร์เชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์มาถูกทางแล้ว”
พรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง ปชป. ซึ่งมีอายุถึง 75 ปี ต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างหนักภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 เมื่อตกที่นั่ง “พรรคต่ำร้อย” ในรอบ 14 ปีนับจากครั้งสุดท้ายปี 2548 ต้องสูญพันธุ์ใน กทม. ครั้งแรก และยังต้องเสียพื้นที่ภาคใต้ให้แก่พรรคการเมืองอื่น ๆ อีก 28 เสียง แม้แต่ จ.ตรัง ที่เคยชนะยกจังหวัดตั้งแต่ปี 2538 จนถูกมองว่าเป็น “เมืองหลวง” ของ ปชป. ก็ถูกพรรคอื่นตีแตก เป็นผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ต่อมานายจุรินทร์ได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 เมื่อ 15 พ.ค. 2562 โดยประกาศว่า “ประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ” และ “จะพาประชาธิปัตย์กลับไปเป็นที่หนึ่งในในของประชาชน”

ในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรควันนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษที่เข้าร่วมรัฐบาล ปชป. พรรคต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง หากเปรียบพรรคเป็นเครื่องบิน ก็เหมือนกับที่ผ่านมา เครื่องบินนี้เปลี่ยนกัปตันคนใหม่ กว่าจะนำเครื่องขึ้นได้ ก็ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง วันนี้สถานการณ์นิ่งขึ้น เครื่องบินประชาธิปัตย์มีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะมีตกหลุมอากาศบ้างชั่วคราว เชื่อว่าสมาชิกพรรคสัมผัสถึงคำปรามาสเรื่อง ปชป. สูญพันธุ์ แม้ยังมีเลือดไหลออกอยู่บ้าง แต่มีเลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับทดแทน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์อยู่มาก ที่เห็นเป็นรูปธรรมเลือดใหม่คุณภาพคือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ยังไม่นับรวมว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่เป็นคนเก่าของพรรค 13 คน และเลือดใหม่อีก 37 คน

หัวหน้า ปชป. ยังเล่าย้อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ โดยระบุว่าได้ตัดสินใจตามวิถีประชาธิปไตยภายในพรรค ซึ่งผลออกมา 61 ต่อ 16 เสียง ให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาล อีกทั้งยังมอบหมายให้นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไปเจรจาขอ 3 กระทรวงที่มีโอกาสดูแลประชาชนในทุกสาขาอาชีพให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง

นายจุรินทร์ยังกล่าวด้วยว่า ถึงขณะนี้ ปชป. ได้ทำตามเงื่อนไข 3 ข้อในการเข้าร่วมรัฐบาลครบแล้ว ไม่มีข้อไหนที่ทำไม่ได้ ประกอบด้วย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ต้องดำเนินนโยบายประกันราคา และต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยังประกาศด้วยว่าจะทำให้ ปชป. ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

2 ปีกับภาวะ “เลือดไหล”
ภาวะ “เลือดไหล” ที่เกิดขึ้นกับ ปชป. นับตั้งแต่นายจุรินทร์ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคสีฟ้า ถูกสาธารณชนจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด หลังนักการเมืองที่มีดีกรีเป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. ทยอยลาออกจากพรรคอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้มีบางคนออกไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ก่อตั้งพรรคกล้า นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ก่อตั้งพรรคไทยภักดี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม เข้าไปนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และล่าสุดคือนายนิพิฏฐ์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะเปิดตัวในนามพรรคเพื่ออนาคตไทยร่วมกับอดีตแกนนำ พปชร. กลุ่ม “สี่กุมาร”

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงปรากฏการณ์คนเก่าคนแก่ของ ปชป. ทยอยลาออกจากพรรค โดยยอมรับว่าเป็นห่วง และเห็นใจผู้บริหารพรรคซึ่งต้องเร่งหาทางแก้ไข

“แต่ก็เข้าใจว่าชื่อเสียงเกียรติภูมิพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นไปอย่างเดิม ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาและสถานการณ์ เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมั่นคงอยู่” นายชวนกล่าวไว้เมื่อ 10 ธ.ค.