Categories
ข่าว

สอดไส้ไม้!? แขวงทางหลวง แจง “เสานิรภัย” ทำมาจาก “ยางพารา” ตามนโยบายรัฐบาล ยัน ไม่มีทุจริตแน่นอน

วันที่ 5 พ.ค.65 เพจ ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน โพสต์ระบุว่า ต้นละ 1,860 – 2,050 บาท เราไปหาราคามาให้ พบว่าทางหลวงน่าน ทำเสาหลักนำทาง ทั้งหมด 2 โครงการ รวม 3,201 ต้น โครงการแรกทำเมื่อ เม.ย. 64 จำนวน 2,086 ต้น ตกต้นละ 1,860 บาท และทำเพิ่มเดือน ก.ค. อีก 1,115 ต้น แพงขึ้นไปอีก เฉลี่ยต้นละ 2,050 บาท
ล่าสุด แขวงทางหลวงที่ 1 น่าน แจงดรามา “เสานิรภัย” ไม่แข็งแรง และมีการสอดไส้ไม้ผ่าข้างในทำนองว่าอาจมีการทุจริต โดยเสาดังกล่าวนั้นทำมาจากยางพารา ตามนโยบายรัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง
โดยจังหวัดน่าน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 จำนวน 2,086 ต้น ตกราคาต้นละ 2,050 บาท แทนเสาแท่งปูนซิเมนต์ที่หมดอายุการใช้งาน แต่ละต้นจะมีความสูง 140 เซนติเมตร หรือ 1.40 เมตร อายุการใช้งาน 3-4 ปี
นายนิรันดร์ ครองงาม รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงที่ 1 น่าน ยังบอกอีกว่า สำหรับเสายางพารา นอกจากเป็นการช่วยเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการเซฟชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุชนจะทำให้ปลอดภัยมากกว่าเสาแท่งปูน ที่สำคัญเสานิรภัยข้างทางติดตั้งไว้เพื่อการสะท้อนแสง หรือบอกแนวขอบถนนป้องกันอุบัติเหตุตกถนนโดยเฉพาะตอนกลางคืน แต่อาจจะมีปัญหาถูกไฟป่าไหม้ได้หากติดตั้งพื้นที่ป่าที่มีไฟป่าประจำ และขอยืนยันว่าไม่มีการทุจริตแน่นอน ที่ใส่สอดไส้ไม้ไผ่เพื่อให้มั่นคงไม่โยกเยกและสะดวกต่อการติดตั้งครั้งแรกเท่านั้น