Categories
ข่าว

ปลอดภัย! “บิ๊กตู่” เดินทางถึง ฐานทัพ Andrews วอชิงตัน คนไทยในสหรัฐฯ มอบดอกไม้ต้อนรับ ให้กำลังใจ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 05.55 น. เวลาประเทศไทย (เวลาท้องถิ่น 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.55 น.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางถึง ฐานทัพ Andrews กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ 12-13 พฤษภาคม 2565 ตามคำเชิญของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทันทีที่นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงโรงแรมที่พัก มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มารอต้อนรับมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่งมีทั้งตัวแทนทีมไทยแลนด์ และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ได้สะท้อนปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานถูกกฎหมาย และต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้คนไทยที่จะทำงานในต่างประเทศ ได้รับวีซ่าทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุน Soft Power ของไทย
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาให้การต้อนรับ พร้อมทักทายอย่างเป็นกันเอง และได้สั่งการให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน รับเรื่องของผู้ประกอบการไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพสำหรับผู้นำอาเซียนที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมทั้ง ร่วมกำหนดการที่ฝ่ายสหรัฐฯ เชิญผู้นำอาเซียนพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ได้แก่ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำรัฐสภา และผู้นำภาคเอกชน
ในส่วนของการหารือในโอกาสต่าง ๆ จะเน้นเรื่องการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคในยุคหลังโควิด-19 ความมั่นคงด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือทางทะเล การค้าการลงทุน ห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ และ การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่สำคัญ โดยเน้นย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการส่งเสริมบรรยากาศที่ดีเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งยังยืนในภูมิภาค
โดยประเด็นหลักที่นายกรัฐมนตรีที่จะนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ คือ ส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และได้ยกระดับเป็นหุ้นส่วน เชิงยุทธศาสตร์เมื่อปี 2558 ทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 เสาของประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการบูรณาการและการพัฒนา ในภูมิภาคให้ก้าวหน้า