Categories
ข่าว

เบรกแล้ว! งดจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ให้ข้าราชการ 9.1 หมื่นคน ชี้ไม่เดือดร้อน มีเงินเดือน-สวัสดิการอยู่แล้ว

กรณี การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า ข้าราชการ 9.1 หมื่นคน ที่เป็นเกษตรกร สามารถขึ้นทะเบียนและมีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือได้ แต่ข้าราชการบำนาญ ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ แต่ยังสามารถอุทธรณ์ได้

วันที่ 22 พ.ค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในเรื่องของข้าราชการประจำ ไม่ควรได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ขึ้นทะเบียน และส่งให้ กระทรวงการคลัง เป็นคนคัดกรอง โดยเบื้องต้น อยู่ระหว่างคัดกรอง ยังไม่มีการจ่ายเงินให้ข้าราชการเหล่านั้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ประสานกลั่นกรองความซ้ำซ้อน และส่งข้อมูลไปให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงิน ซึ่งจ่ายไปแล้ว 3.4 ล้านคน และอยู่ระหว่างการส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลังคัดกรอง 7 แสนคน และอีก 1.6 ล้านคน ที่กำลังจะส่งเรื่องเข้ามาให้ทางกระทรวงเกษตรฯ คัดกรองในเบื้องต้นในเรื่องการขึ้นทะเบียน ก่อนที่จะส่งไปที่คลัง โดยคาดว่าจ่ายเงินให้เกษตรกรชุดแรกได้ภายในเดือน พ.ค.นี้

สำหรับ ข้าราชการนั้น ไม่ควรได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ เนื่องจากมีรายได้ประจำ ไม่ควรมาใช้สิทธิ์ของความเป็นเกษตรกร เพราะมีสวัสดิการอยู่ ตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ทั้งข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ ไม่ควรได้รับสิทธิ์ตรงนี้

เมื่อถามว่า ธ.ก.ส.พบว่า เกษตรกรกลุ่มแรก 3.4 ล้านคน พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 100,000 คน นายอนันต์ เผยว่า ตนยังไม่เห็นตัวเลขจริงๆ ตรงนี้ แต่ถ้ามีผู้เสียชีวิต ธ.ก.ส. ก็จะต้องแจ้งกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นปกติที่จะมีผู้เสียชีวิตได้ เพราะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่นำมาใช้ เป็นทะเบียนที่ขึ้นไว้เมื่อปี 62/63 ซึ่งต่อมา เราก็เปิดให้เกษตรกรเข้ามาปรับปรุงการขึ้นทะเบียนใหม่ ซึ่งหาก ธ.ก.ส.ติดขัดในเรื่องไม่มีตัวตนแบบนี้ ธ.ก.ส. ก็จะแจ้งกลับมาที่กระทรวงการคลัง

นายอนันต์ กล่าวยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จะมีผีในกระทรวงเกษตรฯ รับเงินในส่วนนี้ เพราะรอบนี้เป็นการจ่ายเงินผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ซึ่งเงินไม่ผ่านมาที่กระทรวงเกษตรฯ อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินมีหลักฐาน จึงเป็นไปไม่ได้เลย และหากหัวหน้าครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนเสียชีวิต ต้องไปดูก่อนว่า จะจ่ายให้ทายาทได้หรือไม่ โดยต้องมีการหารือกับคณะกรรมการฯ อีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุป ก็จะต้องเสนอเรื่องเข้า ครม.

นอกจากนี้ นายอนันต์ ยืนยันว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร จะไม่จ่ายเงินให้เคสที่ขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือในโครงการอื่น ไม่ว่าจะเป็น เราไม่ทิ้งกัน หรือ ประกันสังคม

อย่างไรก็ตาม วานนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงหลักการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือนของรัฐบาล ว่า อยู่บนหลักการว่าเงินจำนวนนี้น่าจะพอดูแลในช่วง 3 เดือนนี้เพื่อไม่ให้ลำบากจนเกินไป หากมากไปกว่านี้รัฐบาลแบกภาระไม่ไหว

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจ่ายเงินให้กับข้าราชการที่ทำเกษตร และลงทะเบียนเกษตรกรไว้ด้วย ต้องไปถาม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ การจ่ายเงินนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องได้รับ เฉพาะคนที่ลำบาก ไม่เช่นนั้นเงินไม่มีทางพออยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถ ตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านเว็บไซต์ https://สิทธิเยียวยาเกษตรกร.com รู้ผลทันที บอกวันได้รับเงิน 5,000 บาท ว่าเงินจะเข้าวันไหน ตั้งแต่ 18, 19, 20 พ.ค.63 และอีกรอบ 28 พ.ค. 63

ขณะที่ เฟซบุ๊ก “เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชน” ได้แชร์ข้อมูลของ การยางแห่งประเทศไทย ระบุ รอบการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยาง

กลุ่มแรก ซึ่งขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และมีชื่อในทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร (ตัดยอด วันที่ 30 เม.ย.63) โดย ธ.ก.ส. เริ่มจ่ายเงินแล้วตั้งแต่วันที่ 15, 18 – 20 พ.ค. 63
กลุ่มที่ 2 เฉพาะกลุ่มที่มีชื่อขึ้นทะเบียนกับ กยท. (ตัดยอด วันที่ 30 เม.ย.63) จะจ่ายเงินในวันที่ 22-25 พ.ค.63
กลุ่มที่ 3 ซึ่งแจ้งปรับปรุงข้อมูลและขึ้นทะเบียนกับ กยท. ระหว่าง 1-15 พ.ค. ที่ผ่านมา จะจ่ายเงินในช่วงวันที่ 30 – 31 พ.ค. 63 แต่จากนั้นหากยังไม่ได้รับสิทธิ์ สามารถแจ้งขออุทธรณ์การเยียวยาได้
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยา สามารถแจ้งขออุทธรณ์การเยียวยาได้ภายในวันที่ 5 มิ.ย.63

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดระยะเวลาอุทธรณ์ ดังนี้

1. เกษตรกรที่ปรับปรุงข้อมูล ปี 62/63 ภายใน 30 เม.ย.63 จะเริ่มให้อุทธรณ์ตั้งแต่วันนี้ – 5 มิ.ย.63 ไม่เว้นวันหยุด

2. เกษตรกรที่ปรับปรุงข้อมูลระหว่าง 1 – 15 พ.ค.63 สามารถเริ่มอุทธรณ์ได้ 31 พ.ค. – 5 มิ.ย.63

โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ 8 หน่วยงาน ดังนี้

สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด
สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด
สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด
สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน
เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4
สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

เมื่อยื่นเรื่องอุทธรณ์แล้ว สามารถตรวจสอบและติดตามได้ผ่าน www.moac.go.th ได้อีกทางเพื่อตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ภายใน 8 วัน นับจากยื่นอุทธรณ์