Categories
ข่าว

“ธนาธร” เจาะ “หม้อข้าว” ทหาร สงสัยทำไม เหล่านายพลรวยผิดปกติ!?

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณา งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในโอกาสที่วันนี้ ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมได้มาชี้แจงต่อ กมธ. นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก


ธนาธรได้ตั้งคำถามประเด็นแรก เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณกระทรวงกลาโหม รวม 18,657 ล้านบาท ซึ่งมากเกือบเท่างบประมาณของกระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมกัน (1.9 หมื่นล้านบาท) เอาไปเป็นงบสร้างรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หัวหิน ได้เกือบครบเส้น (2 หมื่นล้านบาท) หรือเอาไปเฉลี่ยเป็นเบี้ยเด็ก 0-6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เงินนอกงบประมาณทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด หรือเว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือตกลงกับกระทรวงการคลัง ไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งระเบียบการคลัง ทำไว้กับกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียว ว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมให้ถือปฏิบัติการบริหารตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม เท่ากับให้อำนาจพิเศษแก่กระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นๆ ซึ่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหม แบ่งเงินนอกงบประมาณเป็น 2 บัญชี เงินในบัญชีที่ 2 อนุญาตให้ตั้งในระบบบัญชีเอง และตั้งระบบตรวจสอบบัญชีเองได้ หมายความว่างบประมาณบางส่วนของกลาโหมมีความไม่โปร่งใส


ธนาธรจึงขอให้กระทรวงกลาโหม เปิดเผยรายละเอียด ของ

1.รายได้จากการใช้ทรัพยากรคลื่นวิทยุย้อนหลัง 10 ปี
2.รายชื่อบริษัทผู้รับบริหารสัมปทานคลื่นวิทยุ และสัญญากับทุกบริษัท
3.สัญญาระหว่างกองทัพบกกับ ช่อง 7 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2512
4.รายได้จากการให้สัมปทานช่อง 7 ทุกปี ตั้งแต่ปี 2512
5.รายได้อัตราค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ MUX
6.ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ
7.รายละเอียดเงินนอกงบประมาณประเภท 1 และ 2 ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง

โดยธนาธรกล่าวว่าเหตุที่อยากทราบรายละเอียดเรื่องนี้ เพราะประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมบรรดานายพลจึงร่ำรวยผิดปกติ โดยดูจากบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. เมื่อเดือน พฤษภาคม 2562 รายได้ของนายพล 81 คน ที่อยู่ใน สนช. มีทรัพย์สินเฉลี่ย 78 ล้าน รายได้เฉลี่ย 12.72 ล้านบาทต่อปี หรือมีทรัพย์สิน 6.13 เท่าของรายได้ รายได้และทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถได้มาโดยลำพังเงินเดือนการเป็นทหารอย่างเดียว หมายความว่านายพลส่วนใหญ่มี “side business” หรือทำธุรกิจคู่ขนานกับการรับราชการ

ธนาธรยังย้ำด้วยว่า ได้ขอข้อมูลดังกล่าวไปตั้งแต่ตอนกระทรวงการคลังมาชี้แจงต่อ กมธ. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับเอกสารชี้แจงข้อมูลที่ขอไป

พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตอบว่า เงินนอกงบประมาณที่สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ไม่ได้มาจากการจัดทำของกระทรวงกลาโหม แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา และการเบิกจ่ายก็เป็นไปตามปกติ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือกระทรวงอื่นๆ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องความโปร่งใสของรายได้นายพล ผบ.สส. ยืนยันว่าผู้ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ละคนอาจมีฐานความร่ำรวยแตกต่างกัน และได้แสดงความโปร่งใสผ่านการแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ทั้งก่อนและหลังการเข้ารับตำแหน่ง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ พลเอกพรพิพัฒน์ยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดส่งเอกสารให้แก่ธนาธรต่อไป
.
ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ ยืนยันว่าเงินนอกงบประมาณ บางส่วนเป็นรายได้จากโรงพยาบาลของกองทัพ ซึ่งประชาชนก็เข้ารับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รายรับบางส่วนจะนำกลับมาหมุนเวียนในการบริหาร ส่วนกรณีค่า MUX ช่อง 5 และช่อง 7 ช่อง 7 ได้หมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ส่วนในกรณีการปรับลดอัตรากำลังพล กองทัพมีแผนการปรับลดกำลังพลอยู่แล้ว ทั้งนายพลและพลทหาร อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้ตอบคำถามกรณีความร่ำรวยผิดปกติของเหล่านายพลแต่อย่างใด

ในประเด็นต่อมา ธนาธรตั้งคำถามถึงกิจกรรมของกองทัพที่ไม่อยู่ในภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นม้า มวย หวย หรือกิจการพาณิชย์ สนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก ใช้งบประมาณ 380 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่รามอินทรา ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกิจการของรัฐหรือเอกชนกันแน่ ทั้งที่สนามมวยนี้อยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก ก่อนหน้านี้ก็ได้ข่าวว่าไปสร้างสนามมวยที่ทุ่งมหาเมฆ แต่ไม่ได้ใช้งาน เพราะโปรโมเตอร์เห็นว่าเดินทางไม่สะดวก สูญงบประมาณไปอีก 50 ล้านบาท ส่วนรายได้ของสนามมวยลุมพินี ตั้งแต่ปี 2557-2560 มีรายได้กว่า 400 ล้านบาท ถูกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสนามมวยลุมพินี อยากทราบว่ารายละเอียดการบริหารจัดการกองทุนนี้เป็นอย่างไร ใครเป็นคนบริหาร ส่วนการสร้างสนามมวย ตกลงใช้งบส่วนใด ถ้าเป็นงบราชการก็ขอดูรายละเอียดการเปิดประมูล การจัดซื้อจัดจ้างโครงการด้วย

เช่นเดียวกับกรณีของสนามม้า เช่น อัศวราชสีมาสโมสร องค์กรค่ายสุรนารี ทหารผ่านศึกราชสีมาสมาคม ที่ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ สนามม้าเหล่านี้อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือไม่ และรายได้จากสนามม้าไปอยู่ที่หน่วยงานใด ได้จ่ายภาษีจากการดำเนินกิจการพนันให้กรมสรรพสามิตหรือไม่ โดยธนาธรยืนยันว่าต้องการดูงบการเงินของสนามม้าทั้งหมดของกองทัพ และถามกลับด้วยว่าหากสนามม้า สนามมวย ยังต้องมีอยู่ ทำไมจึงต้องขึ้นกับกองทัพ ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

ธนาธรยังถามอีกด้วยว่ามีข้อมูลมากมายปรากฏทั่วไปว่ากองทัพมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร มีแม้แต่เอกสารวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องดังกล่าว และมีแฟนเพจเฟซบุ๊กที่ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานทหาร แต่โพสต์ข่าวใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองบางพรรคอย่างต่อเนื่องด้วยวาทะเกลียดชัง สร้างความแตกแยกในสังคม ธนาธรจึงถามไปยังกระทรวงกลาโหมว่าทางกระทรวงมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ถ้ามี อยู่ในหน่วยงานใด ใช้งบเท่าไหร่ และหากมีปฏิบัติการนี้ อำนาจในการกำหนดเนื้อหา เช่นใครเป็น “ศัตรูของชาติ” หรืออะไรคือ “ความจริงที่ถูกต้อง” อยู่ที่ใคร?

ในกรณีนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.สส. ยืนยันว่าการดำเนินกิจการมวย ม้า มาจากกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และการดูแลสวัสดิการทหารผ่านศึก แต่หากจะให้ตอบว่าการให้กิจการเหล่านี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเหมาะสมหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ากองทัพทำแบบนี้มานานแล้ว คงต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำตอบจากผบ.เหล่าทัพ ต่อกรณีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอที่โจมตีพรรคการเมือง