Categories
ข่าว

ยากขึ้น!! กรมการขนส่งฯ ห้ามผู้ป่วยเบาหวาน-ลมชัก ทำใบขับขี่

เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงคมนาคม เรื่องการขอ และการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน หรือราววันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดยสาระสำคัญ คือ การออกใบรับรองแพทย์ประกอบการขอรับใบอนุญาตขับรถหรือขอใบขับขี่ และกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขับรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังสูง หรือบิกไบก์ ต้องผ่านการอบรมและทดสอบเพิ่มเติม

นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับแพทยสภาเพื่อจัดทำรายละเอียด ให้สอดรับกับกฎกระทรวง โดยใบรับรองแพทย์ที่จะนำมายื่นขอใบอนุญาตขับรถต้องแสดงว่าไม่มีโรคประจำตัว หรือไม่มีสภาวะของโรคที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ หรือไม่มีอาการผิดปกติทางจิต หรือไม่มีโรคที่ไม่เหมาะสมกับการขับรถ โดยจะเพิ่มโรคต้องห้าม อาทิ โรคลมชัก, โรคเบาหวาน, โรคความดัน, โรคอารมณ์สองขั้ว, ออทิสติก หรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 เซนติเมตร ไปด้วย โดยหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ แพทย์ที่ต้องออกใบรับรองแพทย์ต้องประเมินสภาพทางด้านร่างกายของผู้ขอใบรับรองแพทย์และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้กับรถทุกประเภทที่มารับใบขับขี่ โดยอาจให้นำใบรับรองแพทย์ ที่แสดงว่าเหมาะสมกับการขับรถอย่างปลอดภัยมาแสดงเพิ่มเติม แต่หากเจ้าหน้าที่จะประเมินความพร้อมด้านร่างกายของผู้ขอหรือขอต่อใบขับขี่ ถ้าสังเกตหรือประเมินแล้วพบว่ามีสภาวะด้านร่างกายไม่พร้อม หรือมีความเสี่ยงต่ออันตรายในการขับรถจะนำบุคคลนั้นไปทดสอบการขับรถเพิ่มเติม

กรมการขนส่งทางบก กำหนด 5 โรคต้องห้ามได้แก่ โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม, โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ, โรคเรื้อน, โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ ส่วนผู้ขับรถบิกไบก์หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ กลุ่มนี้ต้องเข้าสอบใบขับขี่เฉพาะทางด้วย ซึ่งก็มีเงื่อนไขการเข้าสอบ 7 ข้อหลักๆ ได้แก่

1.ความรู้เกี่ยวกับผู้ขับขี่ควรเตรียมความพร้อมทางด้านการแต่งกาย เช่น ต้องสวมหมวกกันน็อก
2.ความรู้ทางด้านยานพาหนะหรือบิกไบก์เฉพาะเพราะมีน้ำหนักรถจำนวนมากและลักษณะการจอด
3.ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมขณะขับขี่ เช่น ลักษณะการขับขี่บนท้องถนน การใช้ความเร็ว และการขับขี่ในช่วงฝนตก
4.ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีเชิงปฏิบัติการควบคุมรถเบื้องต้นก่อนการขับขี่
5.ความรู้เกี่ยวกับการฝึกขับขี่รถบิกไบก์ อย่างปลอดภัย
6.ความรู้เกี่ยวกับการคาดการณ์อุบัติเหตุ ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่บนท้องถนนยกตัวอย่าง รถบิกไบก์เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาประกอบ
7.ความรู้เกี่ยวกับทำอย่างไรเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล

พลอากาศตรีนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึง กรณีโรคใดบ้างที่ห้ามขับรถ ตามกฎกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ในทางการแพทย์แล้ว ยืนยันว่าโรคที่ห้ามขับขี่ที่แพทยสภามีมติเห็นชอบโรคห้ามขับขี่รถยนต์ มีเพียงโรคเดียวคือ สภาวะของโรคลมชักที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปต้องปลอดจากอาการโรคลมชักอย่างน้อย 1 ปี จึงขับขี่ได้โดยปลอดภัย

ส่วนกรณีของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อยู่ระหว่างการหารือกันของคณะกรรมการแพทยสภา ยอมรับว่ามีแนวทางที่จะพิจารณาบังคับไม่ให้มีการขับขี่ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานในสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ความดันโลหิตสูงในสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ แต่เรื่องนี้อยู่ในการหารือเพื่อความเหมาะสมต่อไป ณ ขณะนี้ ยืนยันว่าผู้โรคเบาหวานทั่วไป โรคความดันโลหิตสูง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้