Categories
ข่าว

มหาเถรสมาคม เตือน! พระ-เณร ร่วมชุมนุมการเมือง

วันที่ 6 พ.ย.63 นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. เปิดเผยว่า จากกรณีพระสงฆ์สามเณรแสดงออกทางการเมือง ทางมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีคณะสงฆ์และสามเณรแสดงออกทางการเมืองในหลายรูปแบบ ทั้งเข้าร่วมชุมนุม และแสดงความเห็นทางบทความหรือบทกลอน

ในส่วนของพระสงฆ์ที่แสดงออกทางบทความ หรือบทกลอนในลักษณะของศิลปิน มส.มีมติขอความร่วมมือ ขอให้เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น กำกับดูแลคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้คณะสงฆ์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเชิงเสียดสี ก่อให้เกิดความแตกแยก แต่ถ้าจะสามารถทำได้ในกรณีใช้คติธรรมในเชิงสั่งสอน ตักเตือน โดยไม่ไปว่าร้ายเสียดสีใคร

นายสิปป์บวร กล่าวต่อว่า ส่วนพระสงฆ์หรือสามเณรที่เข้าร่วมชุมนุมหรือขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น มส.เคยมีคำสั่งห้ามพระสงค์และสามเณร เข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ปี 2538 และได้ทบทวนประกาศให้มีความครอบคลุมในทุกมิติในปี 2561 โดยเพิ่มเติมดังนี้ 1.ให้คณะสงฆ์ปฏิบัติตามคำสั่งมส.ในปี 2538 อย่างเคร่งครัด 2.ห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุม หรือสัมมนา หรือจัดกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ และความแตกแยกขึ้นในสังคม และ 3.ห้ามเจ้าอาวาสใช้ ยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้วัดเป็นสถานที่จัดชุมนุม ประชุม สัมมนา เสวนาหรือมีกิจกรรมที่มีลักษณะหรือเนื้อหาที่อาจเป็นการละเมิดกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือให้ใช้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

หากมีผู้มาใช้วัดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวโดยพลการ ให้เจ้าอาวาสเข้าป้องกัน ห้ามปราม หรือระงับ มิให้มีการจัดกิจกรรมนั้นในวัดต่อไป หากมีความจำเป็นให้ขออารักขาจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพระสงฆ์สามเณรที่เข้าร่วมชุมนุมจะถือว่ามีความผิดถึงขั้นต้องให้ลาสิกขาหรือไม่ นายสิปป์บวร กล่าวว่า การกำกับดูแลคณะสงฆ์มีการดำเนินการเป็นลำดับชั้น คล้ายกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคำสั่งต่างๆ จะออกมาเพื่อดูแลคณะสงฆ์ในภาพรวม ส่วนการที่มีพระสงฆ์สามเณรไปร่วมการชุมนุม ทางมส.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการตรวจสอบ และประสานไปยังต้นสังกัดเพื่อตักเตือน ส่วนจะถึงขั้นต้องให้สึกหรือไม่นั้น เป็นอำนาจการพิจารณาของเจ้าคณะฝ่ายปกครอง ทั้งนี้กรณีที่เข้าร่วมชุมนุมจนมีความผิดต้องคดีตามกฎหมาย จะมีการพิจารณาในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังเป็นเพียงการพิจารณาในวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ของพระสงฆ์สามเณร