Categories
ข่าว

เคลียร์คนติดโควิดตกค้าง!! “อนุทิน” แนะ หากไม่ทันใจ รอเตียงไม่ไหวเดินทางมาเองได้เลย ลั่น! ทำทุกทางไม่ให้ต้องเปิดไอซียูสนาม

วันที่ 25 เม.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมตรวจความพร้อมการดำเนินงานของรพ.สนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 (Cohort Ward) ของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)

นายอนุทิน กล่าวว่า สบยช.จัดตั้ง รพ.สนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด 19 รวม 200 เตียง มีการเปิดใช้ 130 เตียง มีผู้เข้าพักแล้ว 117 ราย ส่วนที่เหลือกำลังทยอยเปิดเพิ่มและรับผู้ป่วยโควิด 19 เข้ามาดูแล หากผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็ประสานส่งต่อรพ.ปทุมธานี ได้โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดการเรื่องรถในการขนย้ายผู้ป่วย

นายอนุทิน กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด 19 ว่า สธ.ไม่ได้ดูระบบสาธารณสุขของกทม.โดยตรง แต่เห็นยังมีปัญหาผู้ป่วยจำนวนมาก และตกค้างอยู่ที่บ้านมาก เราจะเข้ามาช่วยสนับสนุนในการเคลียร์จำนวนผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ในบ้านให้มากที่สุด โดยตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อ (Pre admissions center) แต่ไม่ใช่รพ.สนาม เพราะมีการจัดตั้งที่ต่างกัน โดยตนหารือร่วมกับ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา จัดหาสถานที่ ท่านก็มอบพื้นที่อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก รองรับได้ประมาณ 500 เตียง หลังจากนั้นก็จะคัดกรองตามอาการ เขียวเหลืองแดงส่งต่อไปตามระบบหากผู้ป่วยมีสังกัด แต่ถ้าไม่มีรายชื่อในสังกัดใด ก็ให้เข้าพักในศูนย์ได้เลย เนื่องจากมีลักษณะเป็น รพ.ชั่วคราว

” ศูนย์เหมือนเป็นส่วนแยกของสธ. โดยภายในศูนย์ฯ จะมีรถเอกซเรย์ ห้องแล็บ ย้ำว่าไม่ใช่สถานที่ให้คนทั่วไปมาตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการกักตัวแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้างอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยทุกคนจะต้องถึงมือหมอ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการ เปลี่ยนจากกลุ่มสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ขณะนี้เรามีสายด่วนโทรติดตามให้มารับการรักษา แต่หากไม่ทันใจ อยากเข้าสู่ระบบโดยเร็วสามารถเดินทางมายังศูนย์แรกรับฯ เพื่อเข้ารับการคัดกรองและดูแลตามระบบได้ทันที ถือเป็นหน่วยเก็บตกอีกช่องทางที่ช่วยเร่งให้ได้รับการดูแลเร็วขึ้น หากจะเดินทางมาก็ขอให้นำผลการตรวจมาด้วย และขอความร่วมมือในการใช้รถยนต์ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือติดต่อมาที่แท็กซี่รพ.ราชวิถี เพื่อให้ไปรับได้

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนเตียงมากถึง 5 พันเตียง โดยมีอุปกรณ์ต่างๆ พร้อม ส่วนบุคลากรจะมีการระดมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีสลับหมุนเวียนกันมาดูแล การมี รพ.สนามหรือฮอสปิเทลจำนวนมาก รวมถึงย้ายคนที่อาการดีหรือรักษาหายออก จะช่วยให้เตียงในรพ.มีมากขึ้น โดยเฉพาะเตียงไอซียู เราทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้สถานการณ์ต้องไปถึงขั้นเปิดไอซียูสยาม

” จากการที่แต่ละจังหวัดมีการออกมาตรการต่างๆเพิ่มขึ้น ประชาชนเองก็ให้ความร่วมมือ จะเห็นว่า กทม.การจราจรเบาบางลง คนออกมาข้างนอกน้อยลง ก็เชื่อว่าเมื่อผู้ติดเชื่อใหม่ลดลง ผู้ป่วยในรพ.ทยอยหายมากขึ้น ขอให้อดทนร่วมกันยกการ์ดสูง เมื่อตัวเลขต่างๆเคลียร์ เมื่อมีวัคซีนมาทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้น ส่วนเรื่องการใช้งบเงินกู้ไม่ได้ล่าช้า จะเห็นว่ายาหรือวัคซีนก็จัดหาซื้อมาได้ การมี รพ.สนามและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ดูแลทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็เป็นงบประมาณทั้งสิ้น ส่วนกรณีเดินทางมาจากอินเดียเราก็พยายามให้เข้ามาลำบากขึ้น โดยยืดระยะเวลากักตัวเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ” นายอนุทิน ระบุ