Categories
ข่าว

‘อนุทิน’ มอบวัคซีนให้ อสม.และบูสเตอร์โดสบุคลากรแพทย์ ลั่น! ปีนี้จะจัดหาวัคซีนให้ครบทุกคน

วันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่ รพ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมมอบวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดเป็นบูสเตอร์โดสบุคลากรทางการแพทย์และฉีดสูตรผสมซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้าในอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จ.นครสวรรค์

นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมามีการติดโควิดมาก จากการกลายพันธุ์ของเชื้อเดลตา ทำให้ติดเชื้อได้รวดเร็ว ทวีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ จึงต้องมีวิธีพึ่งพาตนเอง แม้จะมียาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เมื่อก่อนเราใช้ 5-6 พันเม็ดต่อวัน วันนี้ต้องใช้วันละ 8.5 แสนเม็ด เราต้องกดโควิดลงมาให้ได้ เราจะอยู่ในสภาพแบบนี้ตลอดเวลาไม่ได้ เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ต้องนำเข้า ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล หากไม่หาวิธีป้องกันหรือหายาที่สามารถทดแทนการนำเข้าให้มากที่สุด

“อย่างสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไม่ได้ปลูกยากเย็น เรามีสายพันธุ์พิจิตร สายพันธุ์พิษณุโลก ฝากผู้ว่าฯและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ในการส่งเสริมการปลูก นำส่วนที่พ้นดินไปอบ บดและบรรจุในแคปซูล น่าจะเพิ่มยาได้มากอย่างรวดเร็ว เราจะปล่อยให้ขาดตลาดไม่ได้ อาจใช้ รพ.สต. รพ.ต่างๆ ช่วยกันหาที่หาทางปลูก แปลงเล็กใหญ่ไม่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเราเตรียมพร้อมการทำยาฟ้าทะลายโจร”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สธ.จัดหาจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ตลอดเวลา เดือนนี้ซื้อแล้ว 40 ล้านเม็ด เดือนหน้า 100 ล้านเม็ด เม็ดละ 10 บาท เราต้องช่วยเหลือประเทศ ถ้าร่วมมือทุกฝ่ายยังป้องกันได้ และเรายังมีวัคซีน ซึ่งแต่ละขวดมีมูลค่าต่ำๆ 400-500 บาท เราต้องฉีด 70% ประชากร คือ 50 กว่าล้านคน งบประมาณมหาศาลเหล่านี้ เราไม่ได้ปั๊มเงินเอง เราต้องช่วยบ้านเมืองในการทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรค แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนทุกคนในปีนี้ครบตามเป้าหมาย

“เดือนนี้เป็นต้นไป วัคซีนจะมีปริมาณจำนวนมากขึ้นในแต่ละจังหวัด นครสวรรค์ก็ได้เพิ่ม เนื่องจาก 2 เดือนแรกเราไปฉีดพื้นที่เสี่ยงมากจนได้เท่าจำนวนที่คาดการณ์ จึงทยอยส่งออกมาตามภูมิภาคต่างๆ หวังว่าภายในไม่นาน ทุกคนจะรับวัคซีนพร้อมหน้าพร้อมตา”

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า อสม.เป็นบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าควรรับวัคซีนให้ครบ 2 โดส ในการเข้าไปดูแลประชาชน ส่วนบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า แพทย์ พยาบาลดูแลผู้ป่วยใน รพ. ควรจะต้องได้รับบูสเตอร์โดสไปด้วย หลายจังหวัดรับแล้ว วันนี้ปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรคก็เอาวัคซีนมาสนับสนุนการฉีดด้วย รวมถึงไฟเซอร์ที่จะบูสต์เข็มสามบุคลากรด่านหน้า ซึ่งฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วบูสต์ด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ก็ได้ภูมิขึ้นสูงทั้งนั้น

“ต้องบอก อสม.ว่า ไม่ใช่ได้วัคซีนแล้วเฮ เพราะวัคซีนทุกตัวไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ 100% แต่ช่วยไม่ให้เจ็บหนักเสียชีวิต และต้องช่วยบอกชาวบ้านให้รับทราบเข้าใจด้วย ฉีดแล้วต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างเช่นเดิม ถ้าทำได้ทุกคนจะปลอดภัย ขอให้ อสม.มีความมั่นใจ การฉีดวัคซีนสลับช่วยให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากในเวลารวดเร็วและมีความปลอดภัย ขอให้ช่วยชักชวนประชาชนมาฉีดวัคซีน เพื่อลดโอกาสติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต หากไม่สามารถเดินทางมาได้ ก็ขอให้จัดบริการเชิงรุกเข้าไปฉีดในชุมชน”

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนคนติดเชื้อกลับมาภูมิลำเนาภายใต้ระบบควบคุมดูแล ถือว่าไม่นับรายใหม่ของจังหวัดเพราะว่าป่วยแล้ว และไม่อันตรายไม่แพร่ต่อ แต่ที่อันตรายคือไม่รู้ว่าป่วยเดินทางมาจากพื้นที่อื่น ตรงนี้ อสม.จะช่วยเหลือทางการได้มาก อย่าบอกว่าทำไม่ได้หรือยาก เพราะปีที่แล้วทำมาแล้วป้องกันการแพร่เชื้อได้ทุกจังหวัด เพราะ อสม.ช่วยสอดส่องดูแลคนต่างถิ่น ไม่หลุดสายตาเลย พิสูจน์ด้วยการติดเชื้อแต่ละจังหวัดไม่มี ควบคุมได้ในเวลารวดเร็ว ถ้าทำได้เวลาไม่นานนครสวรรค์ก็จะปลอดเชื้อ

สำหรับ จ.นครสวรรค์ มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ระลอก เม.ย. 2564 ถึงวันที่ 6 ส.ค. 2564 จำนวน 4,746 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2,493 ราย รักษาหายแล้ว 2,187 ราย เสียชีวิต 66 ราย ขณะนี้มีโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง กำลังสร้างแห่งที่ 8 จะทำให้มีเตียงรองรับรวม 1,200 เตียง โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนรวมมี 500 กว่าเตียง และศูนย์พักคอยมีอีกพันกว่าเตียง เตียงจะเพียงพอหากควบคุมผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึงวันละ 200 ราย