Categories
ข่าว

เข้าใจผิดกันไปเอง! หน่วยงานรับผิดชอบ ยัน ไม่ได้เป็นถนน แต่เป็นคันคลองส่งน้ำ ที่ปรับปรุงจากหินลูกรังเป็นลาดยาง

จากกรณีชาวบ้านเหมือด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ร้องเรียนว่ามีการตัดถนนลาดยางเลียบคลองส่งน้ำ พร้อมไฟฟ้าส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ สิ้นสุดกลางทุ่งนาของชาวบ้าน โดยไม่จำเป็น แถมแสงจากไฟส่องสว่างทำให้ข้าวไม่ออกรวงหรือออกรวงช้า ถามหาหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ล่าสุดวันที่ 29 พ.ย.64 นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง ได้ลงพื้นที่สำรวจ และชี้แจงข้อเท็จจริงในการก่อสร้างถนนลาดยางเลียบคลองชลประทานว่า จุดดังกล่าวไม่ได้เป็นถนนแต่เป็นคันคลองส่งน้ำสายแยกซอย หรือที่มีชื่อเรียกว่า คลองส่งน้ำสาย MC-2L-7L ของสถานีสูบน้ำ P.5 ได้รับงบประมาณก่อสร้างตาม พ.ร.บ. ปีพ.ศ.2564 วงเงิน 8,417,000.00 ระยะทาง 1,816 กิโลเมตร เป็นงานจ้างเหมาทั้งโครงการ โครงการฯชีล่างและเซบายล่าง ได้เสนอแผนงานปรับปรุงคันคลองส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ P.5 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 (ไทยนิยมยั่งยืน) และได้รับงบประมาณบางส่วนและได้เสนอขอรับงบประมาณ ในภาพรวมของสถานีสูบน้ำ P.5 ในปี พ.ศ.2566 เพื่อให้เชื่อมโยงกับคลองสายหลัก ซึ่งหากได้รับงบประมาณจะสามารถสัญจรได้ทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาอุดม บ้านเหมือดและบ้านคูสองชั้น ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

โดยโครงการฯดังกล่าวเป็นการปรับปรุงคันคลองส่งน้ำจากหินลูกรังเดิมให้เป็นลาดยาง เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรใช้เป็นทางสัญจร เป็นทางเชื่อมเข้าสู่ชุมชนหรือใกล้ตัวเมืองมากที่สุด และจะได้ใช้ขนถ่ายสินค้าทางการเกษตรได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา เนื่องจากราคายางตกต่ำ จึงได้มีนโยบายให้กรมชลประทานสนับสนุนแผนงานส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ และโครงการฯชีล่างและเซบายล่างได้เสนอแผนงานดังกล่าวในภาพรวม โดยได้เสนอแผนงานก่อสร้างถนนคันคลองชลประทานในเขตรับผิดชอบทั้งหมด โดยก่อสร้างเป็นถนนพาราซอยซีเมนต์และพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีตตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา

คลองส่งน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรังที่ชำรุดทรุดโทรมและได้ใช้มาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี เมื่อได้รับงบประมาณปรับปรุงให้เป็นถนนลาดยาง จึงทำให้เกษตรกรหันมาใช้เป็นเส้นทางสัญจรมากขึ้นและเป็นเส้นทางลัด ทางเชื่อมเข้าสู่ชุมชนหรือใกล้ตัวเมืองมากที่สุด สามารถขนส่งผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเกษตรกรได้ขยายที่อยู่อาศัยออกไปตามคันคลองต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นการกระจายความเจริญสู่ชนบท โดยได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมปรับปรุงคันคลองชลประทานของสถานีสูบน้ำ P.5 ตั้งแต่ปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 8 สาย ความยาว 11.965 กิโลเมตร ยังเหลือที่ต้องดำเนินการอีก 43.163 กิโลเมตร รวมกว่า 161 โครงการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธรและอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี