Categories
ข่าว

วิกฤตแล้ว!! “บิ๊กตู่” แถลงการณ์ ขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ย้ำ!ลมฟ้าอากาศ ควบคุมไม่ได้ (คลิป)

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศเกษตรกรรมมีน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ปัจจุบันเรามีจำนวนประชากรมากขึ้น จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคมากขึ้น อีกทั้งความจำเป็นด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรามีแหล่งน้ำสำคัญเพียงแหล่งเดียว คือน้ำฝน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ ทั้งระบบอย่างบูรณาการ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำ โดยช่วงฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก รวมทั้งฝนตกนอกพื้นที่เก็บกักน้ำ อีกทั้งการคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.2563 เกือบทุกภาคของประเทศ ต่ำกว่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ สำหรับรับมือสถานการณ์น้ำแล้ง รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก เราต้องให้ความสำคัญกับน้ำกิน-น้ำใช้เป็นอันดับแรก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลวางรากฐานการปฏิรูปสำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำ โดยผลักดันให้มีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561–2580 และพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ และจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้เป็นองค์กรกลางด้านน้ำ เพื่อเชื่อมโยงระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติ ทั้งการจัดหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม แก้มลิง ประตูกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ จูงน้ำ คลองสายใหม่ ที่ระบายน้ำและกักเก็บน้ำได้พร้อมกันในทุกภาคให้ได้ แต่ก็มีปัญหาในการใช้ที่ดินเอกชน ที่ดินประชาชน และการทำอีไอเอ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ น้ำ ในปี 2558-2562 ที่ผ่านมา สามารถประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ อาทิ โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวม 273,259 โครงการ วงเงิน 368,321 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 9.7 ล้านไร่ เพิ่มความจุน้ำได้ 3,486 ล้านลบ.ม. ที่มุ่งเน้นการจัดหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับทุกหมู่บ้าน มีน้ำประปาใช้ ได้ครบแล้ว

“การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงให้น้ำภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ไหนพร้อมก่อน ลงตัวก่อนก็เร่งดำเนินการให้ทันที” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 ถือว่าประเทศไทยตกอยู่ในภาวะฝนน้อย รัฐบาลได้วางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง อาทิ การเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2562 ให้ได้มากที่สุด และระบายน้ำเท่าที่จำเป็น ปัจจุบันน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำต้นทุนคิดเป็นร้อยละ 60% ส่วนภาคเหนือและภาคกลางที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ สามารถเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ไม่ถึง 50 % (ภาคเหนือ 49% และภาคกลาง 37%) ทำให้ในภาพรวมของประเทศ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ

https://youtu.be/JvfV_F6EZ0c

“รัฐบาลยังมองหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอื่นๆ รวมทั้งแหล่งน้ำนอกประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ โดยการหารือร่วมกับประเทศจีน เพื่อให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563 ประเทศจีนได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ส่งผลให้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกความพยายามของรัฐบาลที่มีความสำเร็จ ในการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำแล้งของประชาชน” นายกฯ กล่าว

“แม้การเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบชลประทานและกลไกการทำงานต่างๆ จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เราก็ไม่สามารถบังคับให้ฝนที่มีน้อยตกในพื้นที่รองรับได้ตามต้องการ ส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบัน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำคัญขนาดใหญ่ ทั้ง 15 แห่งอยู่ในเกณฑ์น้อยขั้นวิกฤต รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ลดละความพยายาม ได้อนุมัติงบกลางและระดมสรรพกำลัง เพื่อมาดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมนอกพื้นที่ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และเชื่อมโยงแหล่งน้ำให้เป็นระบบ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ฝายและระบบกระจายน้ำ เพื่อให้พร้อมรองรับน้ำในฤดูฝนปีนี้” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า 72,000 ครัวเรือน บนพื้นที่มากกว่า 166,000 ไร่ ถือเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้งเร่งด่วนได้อย่างตรงจุด ไปพร้อมๆ กับการเตรียมน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอนาคตปีถัดๆ ไป ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ เราจะสืบสาน รักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งอาณาราษฎรตลอดไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสู่การปฏิบัติ ทั้งโครงการตามแนวทางพระราชดำริและโครงการสำคัญๆ เช่น การจัดทำแก้มลิง ฝนหลวง และการจัดหาแหล่งน้ำ เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ยกระดับการทำงานจากศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจให้เป็นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งมอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลการทำงานของ 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน อย่างบูรณาการกัน เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ปัญหาน้ำแล้ง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในการสร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะยาวนั้น เรายังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากที่รอดำเนินการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยรัฐบาลได้เตรียมการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อวางรากฐานการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ หากเราสามารถขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผน ภายในปี 2565 เราก็จะมีน้ำต้นทุนเพิ่มอีกราว 4,700 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7 ล้านไร่ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลกำลังคิดในขณะนี้ เราจะทำอย่างไร จะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่นอกเขตชลประทานได้บ้าง ซึ่งต้องใช้ที่ดินที่ประชาชนยินยอม ไม่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหาการปลูกพืชเกษตร จากน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว

“ดังนั้นขอให้ประชาชนไว้ใจและมั่นใจว่าการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาล ย่อมยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอมา และขอความร่วมมือร่วมใจจากชาวไทยทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า รวมทั้งรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งต้นน้ำและอากาศบริสุทธิ์ ให้กับประเทศชาติและลูกหลานของเรา เพราะน้ำคือความมั่นคงของชีวิต และประชาชนคือหัวใจสำคัญ ที่เราจะต้องร่วมมือกัน ช่วยให้ประเทศชาติ และทุกคน ผ่านพ้นวิกฤตแล้งไปได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว