Categories
ข่าว

เก่าแก่กว่า 100 ปี “อุโบสถวัดกลางมิ่งเมือง” สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ที่ อ.เมืองร้อยเอ็ด

“อุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายผนังรอบอุโบสถ มีลวดลายภาพวาดแสดงถึงพุทธประวัติมีคุณค่าทางศิลปะ”

ประวัติวัดกลางมิ่งเมือง

วัดกลางมิ่งเมือง เดิมชื่อวัดกลาง เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ด ถ.เจริญพาณิชย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยเป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของขอม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธมิ่งเมืองมงคล” ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา 2084 พระอุโบสถสร้างขึ้นต้น รัชกาลที่ 3 เป็นศิลปะแบบล้านช้างขนาดใหญ่ที่สุดและแปลกที่สุด
ในสมัยของนายวิญญู อังคณารักษ์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้ขอพระราชทานยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่26 พฤษภาคม พ.ศ.2508

ในอดีตเคยใช้วัดกลางมิ่งเมืองเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำ พิพัฒน์สัตยา ส่วนในปัจจุบัน เป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรมและสถานที่สอบธรรมสถานชื่อโรงเรียนสุนทรธรรมปริยัติ สังกัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2413 และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ ฝึกสอนเมื่อ พ.ศ.2514

สถาปัตยกรรมอาคารภายในวัดมี อุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย กว้าง 12.50 เมตร ยาว 20 เมตร บริเวณผนังรอบอุโบสถมีลวดลายภาพวาด แสดงถึงพุทธ ประวัติ สวยงาม และมีค่าทางศิลปะ โดยภายในพระอุโบสถแห่งนี้ ประดิษฐานปูชนียวัตถุ ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถมีนามว่า พระพุทธมิ่งเมือง นอกจากนี้ก็ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดอีก เช่น ศาลาการเปรียญ กว้าง 15 เมตร ยาว 27 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2511 กุฏิสงฆ์จำนวน 9 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และตึก 7 หลัง และวิหารกว้าง 6 เมตร ยาว 35 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นอาคารคอนกรีต เป็นต้น

ภาพและข้อมูล นางสาวฉัตรกนก สุ่มมาตย์ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ (นิเทศศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด