Categories
ข่าว

ไม่ปกปิดแน่นอน!! สธ. สยบข่าวลือ พบผู้ป่วยโควิดโอไมครอน เคสแรกในไทย เข้ารักษาใน รพ.บำราศนราดูร

วันที่ 5 ธ.ค. 2564 จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พบนักท่องเที่ยวติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ โอไมครอนเคสแรกในไทย และเข้ารับการรักษาที่ รพ.บำราศนราดูร นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กรณีพบกรณีนักท่องเที่ยวป่วยและรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ผลการตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อแต่เป็นเชื้อเดลตาไม่ใช่โอไมครอน นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า กรมวิทย์ฯ มีหน้าที่ตรวจหาสายพันธุ์โควิด ยังไม่มีรายงานว่าพบสายพันธุ์โอไมครอน หากพบสายพันธุ์นี้จะแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ ส่วนกระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน นั้นต้องใช้เวลาการตรวจ เนื่องจากยังไม่มีน้ำยาตรวจเฉพาะเหมือนสายพันธุ์อื่น โดยจะใช้เทคนิคการตรวจหาตำแหน่งพันธุกรรมจากน้ำยาตรวจของอัลฟา และเบตาแทน หากให้ผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าติดเชื้อโอไมครอนเนื่องจากตำแหน่งของรหัสพันธุกรรมบางตัวของอัลฟาและเบตามีตรงกับโอไมครอน จากนั้นจึงจะนำมาสู่กระบวนการด้วยหาพันธุกรรมทั้งตัวด้วยจีโนม ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจยืนยัน และเมื่อพบก็จะรายงานผลให้ GISAID ด้วย ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา หากพบคนติดเชื้อโอไมครอน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ปกปิดแน่นอน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มพบเชื้อโอไมครอน ก็มีความเป็นไปได้หากจะมีการพบเชื้อมากับผู้เดินทางเข้ามา แต่ทุกอย่างต้องมีการตรวจยืนยันให้แน่ใจก่อน และไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะกระบวนการป้องกันยังเหมือน ทั้งสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง และการล้างมือ และกระบวนการรักษาก็ยังเหมือนเดิม และวัคซีนยังเป็นกลไกสำคัญช่วยลดความรุนแรง

Categories
ข่าว

“ใกล้สำเร็จแล้ว” แพทย์ไทยทดลองทำวัคซีนโควิด-19 ได้ผลดีในหนู เร่งพัฒนาต่อในมนุษย์

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พัฒนาโดยคนไทย โดยระบุว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทั่วโลก พยายามเร่งค้นคว้าพัฒนาวัคซีนเพื่อที่จะได้นำมาใช้ เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้าน นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น ศิริราช จุฬาฯ รามาฯ และอีกจำนวนมาก ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยส่วนหนึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกับทางจุฬาฯ ได้พัฒนาวัคซีนต้นแบบ หรือ ดีเอ็นเอวัคซีน และทดสอบในหนู จากนั้นจึงนำเลือดหนูมาตรวจหาภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ ปรากฏว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า หนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบ พบมีแอนติบอดี้ขึ้นค่อนข้างดี เป็นที่น่าพอใจ ถือเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งแม้ขณะนี้งานวิจัยของเราอาจไม่ทันหลายประเทศที่ทำอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นควาามคืบหน้า เป็นโอกาส เป็นการพึ่งพาตัวเอง หลังจากนี้จะมีการฉีดวัคซีนต้นแบบดังกล่าวในสัตว์ทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อนำเลือดมาตรวจหาภูมิคุ้มกัน หาค่าแอนติบอดี้ จากนั้นถ้าได้ผลดีก็เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ เพื่อเป็นทางออกของการป้องกันโควิด-19 จึงนับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย